"อีลอน มัสก์" มหาเศรษฐีตัวตึงประกาศกร้าวตั้ง "พรรคอเมริกา" พรรคการเมืองใหม่ของเขา จะหนุน "Bitcoin" อย่างเต็มตัว จุดชนวน "สงครามค่าเงิน" ครั้งใหม่ แนวโน้มชี้ชัด "กระทบเสถียรภาพเงินเฟียต " พร้อมตอกหน้า "ทรัมป์" เรื่อง "หนี้มหาศาล" นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคริปโตฯ แต่คือการ "ปฏิวัติการเมือง" ที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของมหาอำนาจโลกไปตลอดกาล
"อีลอน มัสก์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tesla และนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพล ได้ยืนยันว่าเขาได้สถาปนา "พรรคอเมริกา" (America Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ และนโยบายของพรรค "สนับสนุนบิทคอยน์" เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหลัก
มัสก์ได้ตอบคำถามผู้ใช้งาน X (Twitter เดิม) ที่ถามว่าพรรคการเมืองใหม่ของเขาจะเปิดรับ Bitcoin หรือไม่ โดยเขาตอบสั้นๆ แต่ทรงพลังว่า "เงินเฟียตมันหมดหวังแล้ว ดังนั้น ใช่ (จะรับ Bitcoin)" นี่คือคำประกาศที่ตอกย้ำจุดยืนของมัสก์ที่มองว่าระบบเงินตราแบบดั้งเดิม (Fiat Currency) ที่ควบคุมโดยรัฐบาลนั้นกำลังเผชิญกับภาวะที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น
สายสัมพันธ์ของมัสก์กับคริปโตฯ ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ!
อีลอน มัสก์ ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับ Bitcoin โดย Tesla ภายใต้การนำของเขา เคยเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ยอมรับ Bitcoin และถือครอง BTC ไว้ในคลังบริษัท ในช่วงต้นปี 2564 Tesla ได้เข้าซื้อ BTC มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เป็นหนึ่งในบริษัทมหาชนแห่งแรก ๆ ที่ถือครอง Bitcoin ในทุนสำรองของบริษัท ปัจจุบัน Tesla ถือครอง BTC จำนวน 11,509 BTC คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เป็นบริษัทมหาชนอันดับที่ 9 ที่ถือครอง Bitcoin ในคลังมากที่สุด โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Bitbo
นอกจากนี้ มัสก์ยังเป็นผู้สนับสนุน Dogecoin มาโดยตลอด ซึ่งการทวีตของเขาเคยส่งผลให้ราคาของเหรียญมีมนี้พุ่งทะยานหรือดิ่งลงอย่างรุนแรง
ขณะที่ Samson Mow ผู้ก่อตั้ง Jan3 กล่าวว่า การที่มัสก์เปิดรับ Bitcoin อย่างเต็มตัว อาจทำให้เขามีความได้เปรียบเหนือ โดนัลด์ ทรัมป์ ในความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ Mow ยังเสนอว่า Tesla ควรกำหนดให้ Bitcoin เป็นวิธีการชำระเงินอีกครั้ง และ SpaceX ควรให้ส่วนลดแก่ผู้ที่ชำระด้วย Bitcoin
แม้ว่าในปี 2567 มัสก์จะเคยปฏิเสธแนวคิดการใช้เครือข่าย Bitcoin พร้อมทั้งกล่าวว่าจะใช้บิทคอยน์ เป็นวิธีการชำระเงินบนดาวอังคาร แต่ต่อมาเขาก็ยอมรับแนวคิดนี้ โดยกล่าวว่า Lightning Network ที่ปรับแต่งให้เข้ากับแต่ละพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาการทำธุรกรรมที่ล่าช้าได้ อย่างไรก็ตาม มัสก์ก็ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุน Bitcoin มาโดยตลอด ในปี 2021 เขาเคยกล่าวอ้างว่าราคาของ Bitcoin นั้น "สูงเกินไป" ซึ่งนำไปสู่การที่ราคา BTC ลดลงอย่างมาก
ความบาดหมางระหว่าง "มัสก์กับทรัมป์" สู่เบื้องหลังการก่อตั้งพรรคใหม่
ความสัมพันธ์ของมัสก์กับโดนัลด์ ทรัมป์ แย่ลงเรื่อยๆ จากประเด็น "One Big Beautiful Bill" ของทรัมป์ ซึ่งมัสก์เคยเรียกมันว่า "บ้าคลั่งและทำลายล้างอย่างสิ้นเชิง" และโต้แย้งว่ามันจะทำให้งานหลายล้านตำแหน่งในสหรัฐฯ หายไป และก่อให้เกิด "ความเสียหายทางยุทธศาสตร์อย่างมหาศาล" ต่อประเทศ กฎหมาย One Big Beautiful Bill คาดว่าจะเพิ่มหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อีก 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในทศวรรษหน้า
มัสก์ตั้งคำถามถึงเหตุผลของทรัมป์ในการสร้าง DOGE (ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งลดหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ) หากเขากำลังจะเพิ่มหนี้สาธารณะอีกหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อมาเขายังเปรยว่า สหรัฐฯ ต้องการพรรคการเมืองใหม่ที่ "ใส่ใจประชาชนจริงๆ"
ขณะที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มัสก์ได้ประกาศว่าเขาจะก่อตั้งพรรคอเมริกา หลังจากมีผู้ลงคะแนนโพลของเขามากกว่า 1.24 ล้านคน ว่าเขาควรสร้างพรรคนี้หรือไม่ โดยเกือบสองในสามของผู้ลงคะแนนเห็นด้วยกับการก่อตั้งพรรคใหม่ "เมื่อพูดถึงการทำให้ประเทศของเราล้มละลายด้วยการสิ้นเปลืองและการฉ้อฉล เราอยู่ในระบบพรรคเดียว ไม่ใช่ประชาธิปไตย" มัสก์กล่าวเพิ่มเติม
ต่อมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มัสก์ที่สร้างพรรคการเมืองที่สาม โดยทรัมป์กล่าวว่าพรรคใหม่ของมัสก์อาจทำให้คะแนนเสียงของพรรครีพับลิกันแตกในระหว่างการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในปี 2569
ทั้งนี้การประกาศของ "อีลอน มัสก์" ที่จะให้ "พรรคอเมริกา" สนันสนุน Bitcoin อย่างเต็มตัว ไม่ใช่แค่ข่าวเล็กๆ แต่คือ "แรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่" ที่กำลังเปลี่ยน "เกมการเมือง" ในสหรัฐอเมริกา และอาจลามไปทั่วโลก การที่มหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลระดับโลก ออกมาประกาศจุดยืนชัดเจนว่า "เงินเฟียตมันหมดหวัง" และพร้อมนำ Bitcoin เข้าสู่เวทีการเมืองหลัก สะท้อนให้เห็นถึง "ความไม่พอใจ" ในระบบการเงินดั้งเดิมที่กัดกินเศรษฐกิจและสร้างหนี้มหาศาล
ขณะเดียวกัน การเล่นเกมที่ "เสี่ยงตาย" สำหรับมัสก์ แต่ก็เป็น "โอกาสทอง" สำหรับ Bitcoin ที่จะก้าวขึ้นสู่ระดับ "สินทรัพย์ทางการเมือง" อย่างเต็มตัว จากเดิมที่เป็นเพียงสินทรัพย์ดิจิทัล การที่ทรัมป์ออกมา "ฟาดกลับ" ทันที แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของมัสก์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และอาจส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงในอนาคตได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามคำถามคือ "พรรคอเมริกา" ของมัสก์ จะสามารถดึงดูดผู้สนับสนุนคริปโตฯ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้กลายเป็น "พลังทางการเมือง" ที่จับต้องได้หรือไม่? และการที่ Bitcoin เข้าไปพัวพันกับการเมืองอย่างเต็มตัว จะเป็น "พร" หรือ "คำสาป" สำหรับวงการคริปโตฯ กันแน่? นี่คือยุคที่ "เทคโนโลยี เงินตรา และการเมือง" กำลังหลอมรวมกันอย่างแยกไม่ออก และ "อีลอน มัสก์" กำลังแสดงให้โลกเห็นว่า เขาคือ "ผู้เล่นหลัก" ที่จะไม่ยอมนั่งดูเฉยๆ อย่างแน่นอน