นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อเจรจามาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐแล้ว หบังจากวานนี้ได้ประชุมกับคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ เพื่อหารือการปรับปรุงข้อเสนอตามที่ได้ประชุมกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR)
"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราไปรับฟังเหตุผลจากทางสหรัฐฯ ว่ามีเรื่องใดที่ให้ความสนใจเป็นเรื่องพิเศษจึงได้นำมาพิจารณาและปรับปรุงในส่วนที่คิดว่าสามารถทำได้ และได้มีการส่งกลับไปทางสหรัฐฯ ใหม่แล้ว" นายพิชัย กล่าว
สำหรับข้อเสนอที่ไทยส่งไปให้สหรัฐฯ จะพิจารณาทันกรอบเวลาวันที่ 9 ก.ค.นี้หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องขอดูก่อนว่าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่กี่วัน
นายพิชัย หัวเราะเมื่อถูกถามว่าไทยจะทำเหมือนเวียดนามที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% หรือไม่ โดยระบุว่า หลักการของไทย ใช้วิธีเปิดใจคุยกัน เป็นข้อเท็จจริงก็ต้องดูว่ามีสิ่งไหนที่ทางสหรัฐฯ อยากได้ และนำรายการที่ไทยซื้อสินค้าจากสหรัฐทั้งหมดมาดูรายละเอียด แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องดูแลผู้ผลิตของไทยด้วย
ส่วนประเด็นสินค้าสวมสิทธิ์เป็นเรื่องที่ไทยได้เสนอไปแล้ว โดยบางเรื่องก็เสนอให้สหรัฐฯ ทำงานร่วมกับไทย พร้อมย้ำว่า กติกาด้านนี้ยังไม่จบ
พร้อมกันนั้น นายพิชัย ชี้แจงกระแสข่าวที่ว่าไทยจะถูกจัดเก็บอัตราภาษีที่ 18-36% นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันทีมประเทศไทยยังไม่ได้ข้อสรุปว่าอัตราภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากประเทศไทยนั้นจะอยู่ที่เท่าไร โดยการตัดสินใจอัตราภาษีทั้งหมดนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ จะแจ้งผลภาษีอย่างเป็นทางการและแจ้งพร้อมกัน ขอให้รอผลอย่างเป็นทางการเท่านั้น
"มีประเทศที่เจรจาได้แล้วเพียงส่วนน้อย ยังมีประเทศที่ไม่ได้เจรจากับทางสหรัฐฯ อีกมาก ทำให้ยังไม่แน่ใจ เพราะมีข่าวว่าจะมีการเจรจาอีกรอบหนึ่งในช่วงเดือนสิงหาคม ประเด็นที่ยื่นเป็นเพียงแค่เรื่องของรายการสินค้า แต่ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ทางสหรัฐฯ ยังพิจารณาอยู่ เช่น ประเด็นสินค้าที่ไทยจะซื้อกลับจากทางสหรัฐฯ ซึ่งไม่เกี่ยวกับอัตราภาษี ดังนั้นแล้วไม่ว่าสหรัฐฯ จะประกาศออกมาอย่างไรก็ถือว่ายังไม่จบ อาจจะสามารถปรับปรุงไปได้เรื่อย"
สำหรับข้อเรียกร้องที่ต้องการให้เปิดเผยประเด็นการพูดคุยนั้น นายพิชัย ย้ำว่า การพูดคุยทุกวันนี้และทุกนาทีเป็นการเจรจากับทุกทีมที่เกี่ยวข้องทั้งของสหรัฐฯ และไทย ยังถือเป็นชั้นความลับที่เปิดเผยไม่ได้ตามข้อตกลงและมารยาทการเจรจา เพราะมีข้อที่ยังต้องพิจารณากันอีก แต่ยืนยันว่าคณะทำงานฯ ยึดผลประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ ข้อตกลงจะต้อง Win-win และยั่งยืนกับทั้งสองประเทศ ผลลัพธ์ที่คาดหวังก็คือการทำให้ภาคเศรษฐกิจ ภาคประชาชนของประเทศไทยยังคงแข่งขันได้บนเวทีโลก
"การที่ทางสหรัฐฯ มาคุยกับทีมประเทศไทย เป็นสัญญาณที่ชี้ไปในทางบวก สหรัฐฯ ยังเปิดโอกาสทำงานร่วมกับเรา เพื่อหาจุดลงตัวของทั้ง 2 ประเทศ และหลังจากที่เราได้พูดคุยกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ฯลฯ แล้ว ทีมไทยแลนด์ จะได้จัดเตรียมข้อเสนอที่ปรับใหม่กลับไปให้สหรัฐฯ ก่อนวันที่ 9 ก.ค.นี้ ซึ่งเราหวังว่า สหรัฐฯ จะนำไปพิจารณาจัดทำอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุ
สำหรับการคาดการณ์เหตุการณ์หลังวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายของทางสหรัฐฯ นั้น รองนายกฯ และรมว.คลัง เชื่อว่าการทำงานจะยังต้องคุยกันต่อเนื่อง เพื่อได้ออกมาเป็นตัวสัญญาฉบับสุดท้าย และในหลาย ๆ ประเทศเอง ก็มีกระบวนการที่จะต้องอนุมัติกันภายในต่อเนื่อง ซึ่งหวังว่าในช่วงนั้นจะได้อัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยต่อเนื่อง จนกว่าการเจรจาลงรายละเอียดจะแล้วเสร็จ
"แน่นอนว่า อัตราภาษีที่เราคาดหวัง คือต้องต่ำที่สุด เพื่อให้ประเทศไทยยังคงแข่งขันได้" นายพิชัย ระบุ
ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานว่า นายพิชัย ตั้งเป้าว่าไทยจะเพิ่มปริมาณการค้าทวิภาคีกับสหรัฐฯ และลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลง 70% จากปัจจุบันที่ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในเวลา 5 ปี และจะทำให้การค้าระหว่างสองประเทศถึงจุดสมดุลในเวลา 7-8 ปี พร้อมกันนี้ ยังระบุถึงอัตราภาษีที่ดีที่สุดด้วยว่าไทยกำลังผลักดันให้ภาษีอยู่ที่ระดับ 10% และเสริมว่าหากภาษีตอบโต้อยู่ระหว่าง 10-20% ถือเป็นอัตราที่ยอมรับได้