นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น “ทรูมันนี่” เปิดเผยว่าพอร์ตสินเชื่อโดยรวมของบริษัทยังสามารถเติบโตได้ โดยปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 20,000 ล้านบาท จากบริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ "Pay Next" และ "Pay Next Extra" ที่ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ปี โดยการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อบริษัทใช้ข้อมูลทางเลือก ซึ่งจะดูจากพฤติกรรมการใช้ทรู วอลเล็ต แทนการดูประวัติเครดิตบูโร ด้วยเพดานอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 25% ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อดิจิทัล ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 7.5% (ก่อนตัดหนี้สูญ Write-off) ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
สำหรับการยื่นขอใบอนุญาต (License) จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) นั้นมองว่าเป้าหมายการให้จัดตั้ง Virtual Bank ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้ผู้ให้ที่ได้รับไลเซนส์ให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ซึ่งตรงกับเป้าหมายของทรูมันนี่ที่ให้บริการมาแล้ว 8-9 ปี ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ตั้งแต่การชำระเงิน การให้สินเชื่อ ประกัน รวมถึงการลงทุน ดังนั้น ไลน์เซนส์ Virtual Bank จึงเป็นการต่อยอดจากประสบการณ์จากทรูมันนี่
"จากผลสำรวจลูกค้าของแอสเซนด์ มันนี่ ผ่านบริการ Pay Next และ Pay Next Extra พบว่า สัดส่วนประมาณ 60-70% เป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือโดนสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ ดังนั้น Virtual Bank จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มของเราได้ จากปัจจุบันบริษัทฐานลูกค้าทรูมันนี่กว่า 34 ล้านคน"
สำหรับโมเดลในการยื่นของไลเซนส์ Virtual Bank เราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง แต่โดยหลักๆ จะมีเรื่องของสินเชื่อและรับฝากเงิน ยึดหลักใช้ Alternative Score ในการพิจารณาสินเชื่อ โดยไม่ได้ใช้ประวัติในข้อมูลเครดิตบูโร ขณะที่โมเดลการติดตามทวงถามหนี้ยังคงใช้วิธีการเดิมผ่านตัวแทน และมีระบบดิจิทัล โดยมีระบบแจ้งเตือนบนแอปพลิเคชันหากลูกค้ามียอดค้างชำระ