xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ คาด กนง.จะลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ หลังบาทแข็งค่าในรอบ 25 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เอเซียพลัส ประเมินมองเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง หลังแนวโน้มดอกเบี้ยโลกเป็นขาลงชัดเจน หนุนดอลลาร์อ่อนค่าลง คาด กนง.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยปีนี้ 0.25% อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน เผยตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 ค่าบาททยอยแข็งกว่า 10.3% แข็งค่าสุดในรอบ 25 ปีครึ่ง และยังแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย กระทบท่องเที่ยว-ส่งออก

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยว่า วัฏจักรดอกเบี้ยโลกจากนี้จะมีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ ท่ามกลางทิศทางเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเป็นไปตามธนาคารกลางต่างๆ คาดการณ์ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากแรงกดดัน 2 ส่วนหลัก คือ

1.FED อาจปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้รวม 1% ซึ่งจะมีอัตรามากกว่า ECB (0.75%) BOE (0.5%) หลังจาก FED มั่นใจว่าเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม ทั้งนี้ FED ได้ปรับดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี (เมื่อ 18 ก.ย.67) ลดลง 0.5% สู่ระดับ 5.0% ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ DOT PLOT คาดลดดอกเบี้ยลงอีก อย่างน้อย 0.5% สู่ระดับ 4.5%

2.ผู้ว่าการ BOJ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก หากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อญี่ปุ่นในระยะถัดไปเป็นไปตามคาด ขณะที่ก่อนหน้านี้ BOJ ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ จาก -0.1% สู่ระดับ 0.25%

ดังนั้น หากเทียบตามสัดส่วนตะกร้าเงินดอลลาร์ ประกอบไปด้วย ค่าเงินของประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษ รวม 83% ซึ่งหากค่าเงินของประเทศหล่านี้แข็งค่าขึ้นอาจกดดันค่าเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง

ชี้หากดอกเบี้ยไทยยังอยู่ที่ 2.5% หนุนฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามากขึ้น

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ยังทำให้ BOND YIELD 10Y สหรัฐฯ มีโอกาสย่อตัวลงเรื่อยๆ และในกรณีที่ดอกเบี้ยไทยยังทรงตัวอยู่ที่ 2.5% จะหนุนให้ผลต่างระหว่าง BOND YIELD 10Y สหรัฐฯ ไทย มี GAP ที่แคบลงได้อีก ซึ่งมักจะเป็นสัญญาณสะท้อนค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่ามากขึ้น ถือเป็นแรงหนุนดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้าบ้านเรา

สรุป กลไกทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่า ECB BOE อีกทั้งการดำเนินนโยบายการเงิน BOJ ที่อาจปรับขึ้นดอกเบี้ย ล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่ดอกเบี้ยไทยมีโอกาสตรึงไว้ที่ 2.5% ถือเป็นแรงหนุนให้ FUND FLOW ไหลเข้าบ้านเรามากขึ้น

คาด กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้น 1 ครั้งในปีนี้ หลังบาทแข็งในรอบ 25 ปี

นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยคาดว่า กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยในปีนี้ 1 ครั้ง (25 BPS.) ผ่านการประชุม กนง.ที่เหลืออยู่ 2 ครั้งในปีนี้ คือ ประชุม กนง. ครั้งที่ 5/67 16 ต.ค.67 และ ประชุม กนง. ครั้งที่ 6/67 18 ธ.ค.67 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนอยู่ 3 เหตุผลหลัก ดังนี้

1.FED ทยอยลดดอกเบี้ยแล้วผ่านการประชุมรอบล่าสุดถึง 50 BPS. และตลาด คาดหวังการลดดอกเบี้ยอีก 75 BPS. ภายในสิ้นปีนี้ จนคาดจะอยู่ระดับ 4.25% (อ้างอิงจาก FED WATCH TOOL) FED WATCH TOOL ที่มา :FED WATCH TOOL, สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส

2.ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าแร็วและแรง ตามกลไกของ DOLLAR INDEX ที่อ่อนค่า หลัง FED ขึ้นดอกเบี้ย โดยตั้งแต่ต้นไตรมาส ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 10.3% ซึ่งถือว่าเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 25 ปีครึ่ง (102 ไตรมาส) อีกทั้งยังแข็งค่าเป็นระดับต้นๆ ในแถบโซนเอเชีย

3.การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วและแรง จะส่งผลลบโดยตรงต่อภาคการส่งออกท่องเที่ยว โดยต้องติดตามตัวเลขส่งออก-นำเข้า ประจำเดือน ส.ค.67 ว่าจะออกมาเช่นไร โดยทาง BLOOMBERG CONSENSUS ประเมินว่าตัวเลขส่งออกอยู่ที่ +6.0%YOY ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ +15.2%YOY

ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้นักลงทุนคาดหมายว่า ธปท.มีโอกาสลดดอกเบี้ยในอนาคต โดยในปีนี้มีโอกาสเห็นการลดดอกเบี้ยสัก 1 ครั้ง ราว 25 BPS. สะท้อนตาม BOND YIELD ไทยอายุ 1 ปี ถึง 10 ปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น