xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงเป้าจีดีพีปีนี้ที่ 2.6% จับตาน้ำท่วม-เศรษฐกิจชะลอ-ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี 2567 ไว้ที่ 2.6% โดยครึ่งปีหลัง 2567 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก จับตาผลกระทบเฉพาะหน้าจากปัญหาน้ำท่วม และเศรษฐกิจหลักชะลอตัว ขณะที่ การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะมีผลกำหนดทิศทางสงครามการค้าระลอกใหม่ ซึ่งไทยอาจไม่ได้อานิสงส์มากนัก

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 2.6% โดยภาพรวมครึ่งปีหลังจะเติบโตสูงกว่าครึ่งปีแรกจากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่มีปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่อย่างไรก็ตาม ได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกเพิ่มเป็น 1.5% มาเป็น 2.5% จากช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาภาคส่งออกขยายตัวได้ 3.8% และปรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 0.5% จากเดิมที่ 0.8%

"ตัวเลขจีดีพีที่คงไว้ระดับ 2.6% นั้น ได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไว้แล้ว ยอมรับว่ายังมี Down Side เรามีความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอกคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า ไปพร้อมๆ กับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ดังนั้น การจะได้เห็นจีดีพีเติบโตตามศักยภาพคงจะยาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ความเสียหายจากน้ำท่วม การบริโภคเอกชนอ่อนแอลง ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามมีเรื่องค่าเงินบาทที่จะกระทบกับภาคส่งออกได้ รวมถึงปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่จบ"

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า วิจัยกสิกรฯ ประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท กระทบ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่เกษตร 1 ล้านไร่ แต่หากมีความเสียหายเพิ่มขึ้นมาถึงพื้นที่ธุรกิจอาจจะทำให้ความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านบาทได้

**คาด กนง.ยังคงดอกเบี้ยทั้งปีนี้**
ด้านนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ทางเฟดได้ลดดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดไว้ และได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีก 2% ภายในปี 2569 เป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่วนทางเศรษฐกิจจีนมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5% ในปี 2567 จากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด และรัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงยังเผชิญการกีดกันทางการค้าจีนจากทางตะวันตก สำหรับยุโรป เศรษฐกิจเยอรมนียังส่งสัญญาณความเปราะบาง รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังสร้างความไม่แน่นอนให้ภาคธุรกิจในยุโรปเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีประเด็นที่ต้องจับตาคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.50% ถือว่าเกินกว่าที่หลายๆ สถาบันคาดการณ์ไว้ ทั้งๆ ที่เฟดส่งสัญญาณว่าปีนี้จะลดดอกเบี้ย 1% และนับจากนี้เหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง ซึ่งคาดเดาสาเหตุได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางการเมือง หรือทางเฟดอาจจะเห็นตัวเลขอะไรที่ซ่อนอยู่ หรืออาจจะเป็นเพราะเฟดช้าไปคือลดดอกเบี้ยช้าเกินไป เลยมาลดครั้งนี้ที่ 0.50% แต่ที่แน่คือวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงได้เริ่มขึ้นแล้ว และเพิ่งจะเริ่มต้น แต่สำหรับธปท.ยังเหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้ และผมไม่เห็นสัญญาณการลดดอกเบี้ยในปีนี้"

**ภูมิรัฐศาสตร์โลกยืดเยื้อหนุนราคาทอง**
ด้าน น ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกยังยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในโลกที่ยังคงอยู่ ควบคู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในขาลง คาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Haven Assets) อย่างทองคำ ยังได้รับแรงหนุน ซึ่งที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักว่า ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากช่วงโควิด ดังนั้น จึงยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และกระจายความเสี่ยงให้ดีด้วย

ด้านอุตสาหกรรมไทย มองว่าจะยังอยู่ท่ามกลางปัญหา จาก 4 เรื่องหลักในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ 1.น้ำท่วม โดยผลกระทบจะมากขึ้นอีกถ้าสถานการณ์เกิดรุนแรงในภาคกลางและภาคใต้ 2.บาทผันผวนสูง 3.การแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ 4.ต้นทุนเพิ่มโดยเฉพาะจากค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทั้ง 4 เรื่อง กระทบเกษตร การผลิต และบริการ หลักๆ คือ SMEs สำหรับภาพทั้งปี 2567 ประเมินว่า รถยนต์ ที่อยู่อาศัย และก่อสร้าง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ลำบากจากเครื่องชี้ด้านรายได้ที่หดตัว

ส่วนภาคการเงินนั้น โจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน ที่จะยังเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ใกล้ระดับ 90% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ทำให้โอกาสการเติบโตสินเชื่อใหม่อยู่ในกรอบที่จำกัดกว่าเดิมมาก โดยสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยปีนี้คงโตไม่เกิน 1.5% ท่ามกลางความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ที่ลดลง

โดยผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถเคยประสบปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ซึ่งปัญหาจะเชื่อมโยงกับการมีรายได้ในระดับไม่สูง มีเงินออมน้อย จึงทำให้อ่อนไหวมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ขณะที่ผลสำรวจครั้งนี้ พบผู้ที่พึ่งพาหนี้นอกระบบ 8.2% ซึ่งต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ วางแผนทางการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ในระบบ นอกเหนือจากการแก้ที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้ให้ลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น