นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สำนักวิจัย CIMBT คงคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สำหรับปี 2567 ไว้ที่ 2.3% โดยคาดการณ์ไตรมาส 2 จะขยายตัว 1.8% yoy หรือเพิ่มขึ้น 0.6% qoq ส่วนไตรมาส 3 เติบโต 2.0%yoy หรือเพิ่มขึ้น 0.7%qoq และไตรมาส 4 เติบโต 3.9% yoy หรือเพิ่มขึ้น 1.4%qoq ส่วนปี 2568 ที่ดูมีความหวังมากขึ้นไว้ที่ 3.2% โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนด้วยผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและปัจจัยทั่วโลก
"การคาดการณ์จีดีพีปีนี้ที่ 2.3% นั้นเราไม่ได้รวม Digital Wallet หากรวม Digital Wallet ที่น่าจะออกมาได้ในไตรมาส 4 คาดว่าจะโต 2.5% ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 โตสูงกว่าไตรมาสอื่น ขณะที่ไตรมาส 2 นั้น ภาคการผลิตยังหดตัว การส่งออกยังฟื้นไม่ชัดเจน มีตัวแปรที่เสริมจากไตรมาส 1 คือการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวนับจากเดือนพฤษภาคม ซึ่งน่าพอพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวไปได้"
สำหรับในครึ่งหลังของปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ภายในจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ความเสี่ยงหลักจะมาจาก 4 ด้านได้แก่ GERM 'G - Gco-politics' ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบและต้นทุน , E 'Eletion' การเลือกตั้งในหลายประเทศที่อาจเปลี่ยนขั้วการเมือง โดยที่น่าจับตาคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีความสำคัญต่อทิศทางการค้า การลงทุน และกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ, R 'Interest Rate' อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวในระดับสูงลากยาว และ M 'Manufacturing' ภาคการผลิตที่อาจหดตัวต่อเนื่อง
"หากชั่งน้ำหนักปัจจัยในประเทศกับนอกประเทศแล้ว เราห่วงปัจจัยต่างประเทศทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเลือกตั้งสหรัฐฯ มากกว่าในประเทศ เพราะในไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว หากเจอปัจจัยต่างประเทศเข้ามาอาจจะกระทบการฟื้นตัวของเราได้ ซึ่งหากสถานการณ์ต่างๆรุนแรงขึ้นอาจจะกระทบจีดีพีให้โตต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องสงครามทางการค้าที่จะกระทบภาคการส่งออก"
**ห่วงกระทบวงกว้างลามกลุ่มปานกลาง-สูง**
นายอมรเทพ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยวันนี้แย่กว่าปี 40 เพราะมีผลกระทบกระจายวงกว้าง ไม่ว่าจะภาคอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ สะท้อนถึงกำลังซื้อระดับกลางและล่างอ่อนแอลง ผู้คนระมัดระวังการบริโภค ขณะที่ภาครัฐมีการกระตุ้นจำกัด ซึ่งไม่เฉพาะเศรษฐกิจไทย แต่ต่างประเทศก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน ดังนั้น ความเสี่ยงเศรษฐกิจจึงมากกว่าปี 40 เป็นวิกฤตแบบซึมยาว กำลังซื้อกลุ่มล่างอ่อนแอ และอาจลามไปถึงกลุ่มกลางและบนขาดสภาพคล่อง ดังนั้นต้องอาศัยภาคการเงินการคลังประคองให้ผ่านพ้นไปได้
**คาด ธปท.ลดดอกเบี้ยปลายปี-ปีหน้ารวม 1%**
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดการณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตรา 2.50% ในการประชุมวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อรักษาระดับการกู้ยืมของครัวเรือนเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น แต่คาดการณ์ช่วงเดือนธันวาคมนี้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้งมาที่ 2.25% และลงมาที่ 1.50%ในปีหน้า รวม 1% โดยปรับลดในการประชุมครั้งเว้นครั้ง
นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่เรามอง ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยปลายปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังเฟดลดดอกเบี้ย รวมถึงอัตราเงินเฟ้อแม้ว่าจะสูงขึ้นบ้างแต่อยู่ในระดับที่ยังดูแลได้ และเพื่อช่วยหนุนให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ช่วยให้เกิดการลงทุน ขณะที่ในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาที่ 1.3% จากปีนี้ที่คาดการณ์ไว้ 0.8% แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะยังอยู่ในกรอบของ ธปท.และเป็นเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้นในปีหน้า จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมในการลดดอกเบี้ยของ ธปท.
**บาทอ่อนแตะ 37**
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าจาก 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ไปที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนกันยายน โดยเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 ตามการคาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ซึ่งจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของตลาดการเงินและช่วยให้เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทปลายปีนี้จะอ่อนค่าลงไปที่ 37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และหากเฟดส่งสัญญาณที่จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเลยในปีนี้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ