นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายสินเชื่อกรีนโลนไว้ที่ระดับ 120,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ 111,000 แสนล้านบาท และยังคงเป้าหมายที่ระดับ 150,000 ล้านบาทในปี 2568 โดยได้วางเป้าหมายสู่ความยั่งยืนใน 3 ระยะ ได้แก่ 1) สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจำนวน 150,000 ล้านบาท ภายใน 2568 2) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1-2) ให้เป็น Net Zero ภายในปี 2030 และ 3) เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและเงินลงทุนตามมาตรฐาน Science Based Target Initiatives (SBTi) หนุนภาคธุรกิจก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งมั่นเป็นพันธมิตรความยั่งยืนนำพาลูกค้าเติบโตฝ่าความท้าทายสู่เป้าหมาย Net Zero พร้อมเคียงข้างและส่งต่อความยั่งยืนให้แก่ลูกค้า ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เพื่อให้คนไทยได้อยู่อย่างยั่งยืน
"แม้จีดีพีของไทยจะโตต่ำโดยเรามองที่ 2.5% แต่ถือว่ายังเติบโต และยังมีบางธุรกิจที่เติบโตได้ เช่น โรงแรม ท่องเที่ยว Wellness อาหาร packaging เป็นต้น รวมถึงการปล่อยสินเชื่อกรีนโลนที่ธนาคารให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยความยั่งยืนของไทยพาณิชย์เราเริ่มมาแล้วร้อยกว่าปี และสิ่งที่เราทำในวันนี้ คือการส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้ลูกหลานได้อยู่ต่อไปอีกร้อยปี เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้า ผู้คนจะต้องดำเนินชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม ธุรกิจจะต้องเติบโตต่อไปได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยพาณิชย์มุ่งมั่นเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับพันธมิตรส่งต่อความยั่งยืนให้ลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชันทางการเงิน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมได้อยู่อย่างยั่งยืน"
**เปิด 3 กลยุทธ์เดินหน้ากรีนโลน**
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเป็น True partner ให้ลูกค้าของเราตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการผ่านกลยุทธ์ ไว้ 3 ด้าน ดังนี้ 1) การบริหารพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้สอดคล้องกับ Net Zero Target ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มลูกค้ารายอุตสาหกรรม โดยเน้นในธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้เป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทยมายาวนาน โดยมีมูลค่าวงเงินอนุมัติสินเชื่อกว่า 1.98 แสนล้านบาทระหว่างปี 2011 ถึงปัจจุบัน ในระยะถัดไป ธนาคารจะยังคงเพิ่มวงเงินสินเชื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งต่อลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ ควบคู่กับการลดการสนับสนุนพลังงานถ่านหิน ผ่านการทยอยลดสินเชื่อคงค้าง และไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่การขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน ส่วนกลุ่มธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ธนาคารได้นำวิธี Implied Temperature Rise (ITR) ตามกรอบ SBTi มาใช้ในการวัดเป้าหมายและความคืบหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยธนาคารมีเป้าหมายจะทำให้ระดับอุณหภูมิของพอร์ตสินเชื่อลดลงสู่ระดับ 2.35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2028 และ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040 ซึ่งจะช่วยให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุ Net Zero ได้ในปี 2050
2) การสนับสนุนลูกค้าตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินยั่งยืนที่ครบถ้วน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกขนาดในแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนการให้ความรู้และการนำเสนอ Technical Solutions ที่นำไปใช้ได้จริงแก่ลูกค้า โดยจะเริ่มจะกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และต่อยอดไปสู่ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี และรายย่อย ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่อาจจะมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนมากกว่า แต่ในท้ายที่สุดจะเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มที่รองๆลงไป
และ 3) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามหลักการ Equator Principles (EP) (EP adoption and implementation) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลักดัน ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’ สู่ ‘การยกระดับการเงินที่ยั่งยืน’ เพื่อช่วยลูกค้าลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ และเพื่อผลักดันการสนับสนุนแก่ลูกค้าและสังคมไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ริเริ่มการนำ Equator Principles (EP) ซึ่งเป็นกรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงิน ที่นำมาตรฐานสากล Best Practices มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กับการให้สินเชื่อในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการประเมินโครงการตามหลักการ EP ไปแล้วทั้งสิ้น 53 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 75,500 ล้านบาท
**แนะรัฐต่อยอดมาตรการระยะสั้นหนุนเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน**
นายกฤษณ์กล่าวถึงแนวนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจุดที่สำคัญคือหลังจากกระตุ้นแล้ว มาตรการระยะกลางและยาวเพื่อต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไป และเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตซึ่งควรจะเป็นมาตรการเฉพาะจุด ไม่ใช่ในวงกว้างมากๆ
"เราไม่อยากให้มาตรการกระตุ้นเป็นแค่จุดพลุวูบเดียวก็หายไป แต่ต้องมี 2 มี 3 ต่อไปด้วยว่าจะต่อยอดไปอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดความไม่สมดุลที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่อย่างนั้นก็เป็นแค่จุดพลุแป๊บเดียวก็จบไป"
สำหรับในส่วนของธนาคารพาณิชย์นั้น ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยในประเทศและนอกประเทศ ธนาคารจึงยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการดูแลคุณภาพหนี้เป็นหลัก มากกว่าการขยายสินเชื่อโดยคาดว่าสินเชื่อปีนี้จะเติบโตแบบ Low Single Digits
"ในสถานการณ์แบบนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างก็มีความเข้มงวดในการปล่อยกู้กันทั้งนั้น ผนวกกับการดูแลหนี้อย่างเหมาะสมทั้งการติดตามและการขายหนี้ออกไป รวมไปถึงพยายามปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งบางส่วนก็ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะเป็นส่วนที่เข้ามาตั้งแต่ช่วงโควิด และยังไม่ฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าด้วยการพิจารณาสินเชื่ออย่างระมัดระวัง การตั้งสำรอง การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมทำให้ธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังแข็งแกร่ง"