นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ภูมิอากาศมีความแปรปรวนเพิ่มขึ้นทุกขณะ จึงทำให้เกิดความร่วมมือจากทั่วโลกที่พยายามต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน รวมถึงความพยายามเพื่อที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement 2015) ซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ส่งผลให้อุตสาหกรรมพลังงานต้องเร่งปฏิวัติเชิงโครงสร้างที่สำคัญ และเป็นโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่มองว่ามีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง จึงได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดเคแทม Green Energy (KT-GREEN) และ กองทุนเปิดเคแทม Green Energy (ชนิดเพื่อการออม) (KT-GREEN-SSF) สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเปิดเสนอขายครั้งแรกในวันที่ 10-20 ม.ค. 2566 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1 บาท
“การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) การลดการใช้คาร์บอนในการผลิตกระแสไฟฟ้า 2) การหันมาใช้พลังงานจากกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก และ 3) การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้า คือสิ่งสำคัญที่อุตสาหกรรมพลังงานต้องเร่งปฏิวัติ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงทำให้เป็นจังหวะที่ดีสำหรับการลงทุนในบริษัทที่มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ เพราะความต้องการเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ การที่ต้นทุนทางเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภคกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ก็จะทำให้เม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลในอนาคต โดยมีการคาดการณ์ว่าจะต้องมีการลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ กระจายไปทั่วแต่ละห่วงโซ่อุปทาน ภายในปี 2050 (ที่มา: Schroders ข้อมูล ณ ก.ย. 65)” นางชวินดากล่าว
สำหรับกองทุน KT-GREEN และ KT-GREEN-SSF เน้นการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม Schroder ISF Global Energy Transition (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียว ในชนิดหน่วยลงทุน “Class C (USD)” โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80% ของ NAV โดยกองทุนหลักมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนจากการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว ผ่านการลงทุนในตราสารทุนของบริษัททั่วโลก ที่ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ เช่น การผลิตพลังงานที่มีคาร์บอนต่ำ การจัดจำหน่าย การเก็บรักษา การขนส่ง และที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน ผู้จัดหาวัตถุดิบ และบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงบริษัทที่มีส่วนสำคัญในกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่าน แม้มิได้ลงทุนโดยตรงในบางกิจกรรม บางอุตสาหกรรม หรือบางกลุ่มของผู้ออกตราสาร
นอกจากนี้ กองทุนหลักมีการลงทุนแบบ Active โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีกำไรและกระแสเงินสดที่เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และซื้อขายอยู่บนระดับราคาที่เหมาะสม ทั้งยังมีการควบคุมความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และมีการคัดกรองบริษัทที่จะเข้าลงทุนด้วยการสร้าง Universe การลงทุนที่เน้นธีม Energy Transition เป็นหลัก ครอบคลุมในหลากหลายอุตสาหกรรม ตลอดห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งทำการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าบริษัท ผ่านการทำ Financial Model อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการคิดลดกระแสเงินสด (DCF Valuation) การจัดอันดับบริษัทตาม GARP Score (Growth-at-reasonable-price) และการจัดกลุ่มความยั่งยืน เป็นต้น และกระจายการลงทุนทั่วโลก โดยไม่มีการ Short หรือ Leverage และยังสามารถถือครองเงินสดได้สูงสุดถึง 30% ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ซึ่งปกติแล้วจะถือครองประมาณ 2-6%