โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ปลื้ม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทย ฟื้นตัวขึ้น คาดการณ์รายได้อาจสูงเกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2566
วันนี้ (5 ม.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบรายงานว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย ฟื้นตัวเร็วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2566 มีแนวโน้มที่รายได้จะสูงเกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความท้าทายขึ้นในทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในปี 2563 รายได้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยลดลงมาก สืบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก อย่างไรก็ดี จากการทำงานอย่างจริงจัง ตั้งใจของรัฐบาล ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการประเมินกระแสโลก ส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติที่เป็นที่นิยม และนำมาปรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย ส่งผลสำเร็จเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดการณ์ว่า ในปี 2566 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ของไทยจะทำรายได้สูงเกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ฯ ระบุว่า การที่ไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการดูแลสุขภาพที่ดี มีความมั่นคงทางสุขภาพสะท้อนจากดัชนีการจัดอันดับระบบดูแลสุขภาพ Global Health Security (GHS) Index 2021 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 5 ของโลก จากทั้งหมด 195 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย พิจารณาจาก การป้องกันโรค การตรวจและรายงาน การรับมือ/ตอบสนองอย่างรวดเร็ว ระบบสาธารณสุข การปฏิบัติตามบรรทัดฐานของนานาชาติ และความเสี่ยงของภาวะแวดล้อม ซึ่งในหมวดของระบบสาธารณสุขนั้น ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น
กระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และการพัฒนาใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่เป็นปัจจัยหลักหนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ในอนาคต จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับไทยซึ่งมีศักยภาพรองรับทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลตามมาตรฐานสากล อัตราค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ไม่แพง
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในการทำงานของทุกหน่วยงาน และบุคลากรทุกคนในระบบสาธารณสุขไทย โรงพยาบาลได้การรับรองตามมาตรฐานสากล บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์และศักยภาพสูง มีระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ และค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง ตลอดจน การปรับหลักเกณฑ์วีซ่าใหม่สนับสนุนให้คนไข้ต่างชาติเลือกเดินทางมาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย รวมทั้งเป็นไปตามการประเมินกระแสความนิยมทางการท่องเที่ยวของรัฐบาล และได้เตรียมการพัฒนามิติของการท่องเที่ยวที่กำลังเป็นที่นิยมเพื่อให้สอดคล้อง รองรับกับกระแสการท่องเที่ยวอย่างทันท่วงที ทำให้ตัวเลขการพัฒนาเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชา กล่าว