เป็นข่าวอึกทึกครึกโครมไปแล้วสำหรับการประสานความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานที่กำลังดูแลและดำเนินคดีความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้น เพื่อป้องปรามและปราบปรามการสร้างราคาหุ้นให้เป็นไปอย่างเข้มข้น รวดเร็ว เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เซ็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น โดยจะบังคับใช้กฎหมายให้รวดเร็วขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์เป็นหน่วยงานแรกในการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นว่า มีความผิดปกติหรือไม่ ทั้งการใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์ และการสร้างราคา ก่อนส่งต่อให้ ก.ล.ต. สอบสวนในเชิงลึก เมื่อพบความผิดจะส่งให้ ปปง.ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน
และจะตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นเมื่อมีการตรวจสอบพบความผิดในการซื้อขายหุ้น เพื่อประสานความร่วมมือการดำเนินคดีให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว
การสร้างราคาหุ้น การใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น การสร้างข้อมูลเท็จในตลาดหุ้น หรือการยักยอกทรัพย์ในบริษัทจดทะเบียน ถูกบรรจุเป็นมูลฐานความผิดฟอกเงินเมื่อประมาณปี 2556
ตั้งแต่การปั่นหุ้น กลายเป็นมูลฐานความผิดฐานฟอกเงิน นักลงทุนรายใหญ่บางคนได้ยุติพฤติกรรมการสร้างราคา และหายหน้าไปจากตลาดหุ้น เพราะกลัวความผิดการฟอกเงิน ซึ่งอาจนำไปสู่การอายัดเงิน รวมทั้งเงินที่ได้มาจาการปั่นหุ้นย้อนหลัง
การบรรจุความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้น เข้าสู่มูลฐานความผิดการฟอกเงิน สร้างความยำเกรง หวาดกลัวให้บรรดามิจฉาชีพอย่างมาก จนนักลงทุนคิดว่า พฤติกรรมการปั่นหุ้น การใช้อินไซด์ หรือการผ่องถ่าย ไซฟ่อนเงิน ยักยอกทรัพย์สินในบริษัทจดทะเบียน หรือการสร้างข่าวเท็จเพื่อปั่นราคาหุ้นคงจะลดลงหรือหมดไป
แต่การปล้นสะดมนักลงทุนในตลาดหุ้นยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง คดีปั่นหุ้น อินไซเดอร์ การยักยอกทรัพย์ การสร้างข้อมูลเท็จไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้น โดยมิจฉาชีพไม่เกรงกลัวความผิดการฟอกเงิน และการถูกอายัดทรัพย์แต่อย่างใด
ปปง.กลายเป็นเสือกระดาษ เพราะอำนาจที่มีอยู่ไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่รู้ว่าต้นเหตุเกิดจากอะไร
คดีความผิดร้ายแรงที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษ และส่งเรื่องให้ ปปง.สอบสวนเส้นทางการเงินในเชิงลึกต่อแทบทุกคดีเงียบเป็นเป่าสาก เช่นเดียวกับคดีที่ ก.ล.ต. ยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ
ความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น มีเพียง 1 หรือ 2 คดีเท่านั้นที่ ปปง.เคยออกมาแถลงถึงการอายัดทรัพย์แก๊งปั่นหุ้น แต่ไม่รู้ว่า ในที่สุดมีการยึดทรัพย์หรือไม่
ก.ล.ต.ส่งต่อความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายให้ให้ ปปง.ปีละนับสิบคดี แต่ ปปง.ไม่ได้แถลงว่า การสอบสวนเส้นทางการเงินคืบหน้าไปอย่างไร ได้อายัดเงินแก๊งมิจฉาชีพหรือไม่ และไม่มีใครไปคุ้ยแคะว่า
ปปง.นำคดีที่ ก.ล.ต.มอบให้สอบสวนธุรกรรมทางการเงินของแก๊งปั่นหุ้นไปหมกไว้ที่ไหน และแต่ละคดีที่เงียบหายไป มีความลับลมคมในหรือไม่
แก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นเคยกลัวหัวหด ปปง. เพราะเงินที่ปล้นมาจากตลาดหุ้นอาจถูกยึดคืนหมด ไม่ว่าปล้นมาเมื่อไหร่ก็ตาม
แต่ ปปง.กลับทำตัวไม่ให้น่ากลัวเสียเอง โดยไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่ปราบปรามจัดการแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นให้สิ้นซาก ทั้งที่ ก.ล.ต. ชงเรื่องมาให้ถึงมือ
การประสานความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ และ ปปง. ในการเร่งรัดตรวจสอบการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ ป้องปรามและปราบปราบการกระทำความผิดในตลาดหุ้น และดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนนั้นอาจช่วยให้นักลงทุนมีความคาดหวังว่า
พฤติกรรมโกง การสร้างภาพลวงตาหลอกลวง การปั่นหุ้นและการเอาเปรียบนักลงทุนจะหมดไป
แต่การซื้อขายหุ้นจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ แก๊งมิจฉาชีพจะสิ้นซากสูญพันธุ์ไปเสียทีจากตลาดหุ้นหรือไม่ คำตอบอยู่ที่ ปปง.
เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะลงโทษ อายัดและยึดเงินที่แก๊งมิจฉาชีพปล้นไปจากประชาชนผู้ลงทุน
ก.ล.ต.กล่าวโทษคดีความผิดในตลาดหุ้นไปแล้วนับร้อยคดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายที่แก๊งมิจฉาชีพก่อไว้รวมหลายหมื่นล้านบาท
คำถามคือ ปปง.ตามอายัดและยึดเงินจากแก๊งอาชญากรรมในตลาดหุ้นไว้แล้วเท่าไหร่ เคยแถลงให้สาธารณชนรับรู้ถึงการทำงานและผลงานบ้างไหม
การจับมือร่วมสังฆกรรมปราบแก๊งปั่นหุ้น ถ้า ปปง.ไม่เต้นตาม ไม่ตื่นตัวในการทำงาน ไม่มีจิตวิญญาณในการปกป้องประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น
เป้าหมายในการทลายแก๊งอาชญากรในตลาดหุ้น เพื่อปกป้องและเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนอาจสูญเปล่า และนักลงทุนคงถูกปล้นต่อไปเหมือนที่เป็นอยู่ในวันนี้