xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯส่งการบ้านรัฐบาลใหม่ หวังสานต่อมาตรการ-ผ่อนเกณฑ์LTVดึงกลุ่มซื้อลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิชัย วิรัตกพันธ์
การก้าวเข้ามาแทนที่ตำแหน่งนายกรัฐมาตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดคำถามขึ้นมา โดยเฉพาะการสานต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งหลายๆฝ่ายกังวลว่าทิศทางของการสนับสนุนตลาดอสังหาฯนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด และหากจะมีการผลักดันนโยบายการ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจอสังหาฯ เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรจะเร่งดำเนินการคือเรื่องใด

ล่าสุด นักวิชาการ โบรกเกอร์ นักวิเคราะห์ และนักธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกันแนวทาง และเรื่องเร่งด่วนในการผลักดันเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจอสังหาฯ

โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะมีผลต่อเนื่องกับมาตรการอสังหาทรัพย์หรือไม่ว่า ถ้าเราติดตาม รัฐบาลใหม่คงมาจากคณะเดิม เพียงแต่จะมีการเปลี่ยนในส่วนของนายกรัฐมนตรี และเราเชื่อว่า นโยบายต่างๆ คงจะยังสานต่อ ที่สำคัญนโยบายมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ชี้ให้เห็นถึงผลต่อภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่ออกมาดีขึ้น แต่มาตรการยังแสดงผลไม่ได้เต็มที่มากในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

“ เราเชื่อว่าแรงขับเคลื่อนจากมาตรการ จะส่งผลดีต่อเนื่องถึงภาพรวมตลาอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3 และ 4 ที่จะดีขึ้น ทำให้ตัวเลขต่างๆปรับตัวดีขึ้น ”ดร.วิชัย กล่าว

ในประเด็นเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนั้น ผมขอยืนยันว่า การลดอัตราดอกเบี้ยยังเป็นสำคัญอยู่ เพียงแต่ว่า ตอนนี้ หากเราจะมานั่งรอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ยังไม่แน่นอนและเด่นชัด แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญตอนนี้ ธนาคารของรัฐ และนโยบายของรัฐบาลก็ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยธนาคารของรัฐ ลดลง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องมาพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่ง จะมีการปรับลดลงอย่างเหมาะสมอย่างไรจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

“ผมยืนยันว่า การลดดอกเบี้ยมีความจำเป็น ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ลดต้นทุนของธุรกิจSME ทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นมา กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม มีประโยชน์มาก แต่ ณ ตอนนี้ เป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถจะควบคุมได้ อยู่ที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. แต่ตอนนี้ เราจะเห็น การลดดอกเบี้ยผ่านนโยบายภาครัฐ โดยธนาคารของรัฐ ซึ่งถือว่า เป็นการแบ่งเบาภาระ และทำให้คนสามารถกู้ และเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น”ดร.วิชัย กล่าว

 ผ่อนเกณฑ์ LTV ดึงกลุ่มซื้อลงทุน 2แสนล.เข้าสู่ตลาด

ดร.วิชัย กล่าวในประเด็นความจำเป็นกับแนวโน้มการปรับลดเกณฑ์อัตราส่วนการให้สินเชื่อ โดยเทียบกับมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value หรือ LTV) ธปท.ว่า ถ้าถามผม ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อการลงทุนมีประมาณมากกว่า 20% แสดงว่า กลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่บ้านหลังแรก ไม่ได้มีสัญญาเดียวในการซื้อ ดังนั้น กลุ่มนี้ หากต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม ก็ต้องนำเงินสดมาวางเงินดาวน์ประมาณ 20% แต่ในภาวะที่อัตราผลตอบแทนไม่ดี ผู้ซื้อเพื่อการลงทุน ก็ไม่ต้องการที่จะนำเงินทั้งหมดมาวางดาวน์ตามเกณฑ์ LTV ถ้าเกิดมีการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV สามารถขอสินเชื่อได้ 100% จะทำให้เงินไหลกลับเข้าสู่ตลาดอีกอย่างน้อยปีละ 20% ซึ่งในแต่ละปี ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ตัวเลข 20% จะทำให้เงินไหลเข้าสู่ตลาดที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างน้อยถึง 200,000 ล้านบาท จากการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV

“การผ่อนเกณฑ์ LTV จะเป็นประโยชน์ แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่แบงก์ชาติจะนำไปพิจารณากับผู้ซื้อเพื่อลงทุน ตัวเลข 2 แสนล้านบาท ไม่ได้ชี้นำถึงการเกิดภาวะฟองสบู่”ดร.วิชัย กล่าว

สุนทร สถาพร
นายกส.ธุรกิจบ้านจัดสรรคนใหม่ หวังผ่อนปรนLTV

นายสุนทร สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรคนใหม่ เปิดเผยว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คิดว่าไม่ได้มีผลอะไรมาก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลยังคงเป็นพรรคเดิมที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล มองว่า นโยบายใหญ่ๆ ไม่กระทบมากนัก และคิดว่า เรื่องเร่งด่วนในวงการอสังหาริมทรัพย์ คือ ทำอย่างไรที่ผู้ซื้อบ้าน ขอสินเชื่อแล้ว ถูกปฏิเสธสินเชื่อในสัดส่วนที่สูงมาก กู้ไม่ผ่าน ทำให้ผู้ซื้อไม่ได้บ้าน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่เดิน ไตรมาสแรก อสังหาฯไม่ดี ตลาดแนวราบกรุงเทพฯติดลบเยอะ ประมาณ 22% คอนโดฯติดลบ 6-8%

โดยสิ่งที่ทางกระทรวงการคลังได้ดำเนินการในแผนระยะสั้น คือ มอบหมายให้ธนาคารของรัฐ ดำเนินการดูแลปล่อยสินเชื่อให้กับตลาดที่อยู่อาศัย เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ซึ่งสินเชื่อต่างๆในโครงการที่ออกมา ผู้ขอกู้ให้ความสนใจอย่างมากมาย จนทำให้วงเงินหมดอย่างรวดเร็ว

“ในระยะยาว รัฐบาลควรมามองเรื่องการจัดระเบียบกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ หรือการหวังให้ดีมานด์ต่างชาติเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ต่างชาติเช่า หรือ ซื้อไม่เกิน 1 ไร่ในที่อยู่อาศัยเท่านั้น เฉพาะบางเมือง หรือ การเพิ่มโควตา ให้ต่างชาติซื้อสามารถซื้อคอนโดฯในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 49 ตรงนี้ไม่น่าจกระทบ เพราะรัฐบาลไม่ได้มีการยุบสภา เรื่องต่างๆ มีคณะทำงานร่วมกันทำงานต่อ อันนี้ระยะยาว เราไม่ต้องกังวล ”นายสุนทร กล่าวกับผู้สื่อข่าว และแสดงความเป็นห่วง ค่าแรง ตรงนี้ อยากให้รัฐบาลใหม่ ทบทวน ค่าแรง เพราะจะมีผลต่อเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นได้ โดยควรพิจารณาตามความเหมาะสม เป็นรายจังหวัด มากกว่าจะทั่วประเทศ เป็นต้น

ไพโรจน์ วัฒนวโรดม
ESTAR มั่นใจอสังหาฯยังไปต่อได้

นายไพโรจน์ วัฒนวโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ESTAR ให้คอมเม้นต์กับกระแสเมืองว่า แม้ทิศทางอสังหาฯไตรมาส 3 จะอยู่ในช่วงทรงๆ มีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จากภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และค่าจดจำนอง โดยขยายเพดานไปจนถึงบ้านระดับราคา 7 ล้านบาท ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้กลับมาร้อนแรงได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยเรื่องความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ยังไม่ผ่อนคลาย ซ้ำสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะการถอดถอนนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน พร้อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่เกิดขึ้นล่าสุด อาจจะมีผลในเชิงจิตวิทยาต่อผู้ซื้อ แต่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ก็ไม่ได้ปรับลดการพัฒนาโครงการแต่อย่างใด

โดยเฉพาะ ESTAR ซึ่งบริษัทฯ ได้รีบปรับกลยุทธ์ด้านการขายอย่างทันท่วงที โดยจัดโปรกระตุ้นการตัดสินใจซื้อโดยไม่รอนโยบายภาครัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น ให้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนถูก 3 ปี โดยทำแคมเปญร่วมกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถผ่อนบ้านใน 3 ปีแรกได้แบบไม่หนักมาก รวมถึงโปรฯ ลดภาระให้กับลูกค้า เช่น ฟรีทุกค่าใช้จ่ายในวันโอนฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าที่กำลังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในขณะนี้ ให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

“ผมมองว่าในส่วนของการเมืองไทยนั้นอยู่บนความไม่แน่นอนมาตลอด ประชาชนน่าจะปรับตัวและเข้าใจสถาน การณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะการ เมืองของประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และส่งผลในเชิงจิตวิทยาระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้งเชื่อว่าผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ หลายๆ ค่าย ก็ต่างออกมาผนึกกำลังช่วยผลักดันให้ตลาดไปต่อ ถือว่าเป็นผลดีที่เศรษฐกิจจะยังทรงตัวได้จนจบปี อย่างไรก็ดี ในส่วนของผลการดำเนินงานของESTAR สำหรับครึ่งปีแรกนี้ ถ้าเทียบกับสถานการณ์ปัจจัยลบต่างๆ เราสามารถทำผลงานได้ดี โดยตอนนี้ยอดขายบริษัทฯ แตะถึงพันล้านเรียบร้อยแล้ว” นายไพโรจน์ กล่าว

สุรเชษฐ กองชีพ
เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรรีบดำเนินการ

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเริ่มมีการฟอร์มทีมและสรรหารัฐมนตรีต่างๆ ควรรีบฟื้นความเชื่อมั่นในระดับสากล เพราะประเทศไทยมีข่าวเรื่องการยุบพรรค และถอดถอนนายกรัฐมนตรีในเดือนเดียวกันซึ่งเป็นข่าวไปทั่วโลกหลายสำนักข่าวสำคัญ ๆ อาจจะสร้างความข้าใจผิดได้มากการอกข่าว และประชาสัมพันธ์รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับทั้งสำนักข่าวตัวแทนประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงนักธุรกิจต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยเป้นสิ่งที่ควรรีบเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อีกทั้งลดการเข้าใจผิดหรือการตีความบางเรื่องผิดไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งการรีบดำเนินการจะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังดำเนินการต่างๆ ได้ชัดเจน รวดเร็ว

การฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระดับสากลเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วน แต่เรื่องที่มีความเร่งด่วน และสามารถดำเนินการได้ในทันที คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย การทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยในเรื่องของนโยบาย และมาตรการต่างๆ ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ รวมไปถึงโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไป นอกจากนี้ การออกไปพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติในประเทศหรือภูมิภาคต่างๆ เป็นเรื่องที่ควรทำและควรออกไปต่างประเทศแล้วเห็นผลที่สามารถที่จะวัดผลตอบรับได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ออกไปประชาสัมพันธ์เท่านั้น

เพราะปัจจุบันการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาตินั้นค่อนข้างสูง แม้ว่าประเทศไทยอาจจะไม่ได้อยู่ในจุดที่เลวร้าย แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าประเทศไทย และถ้าการเมืองภายในประเทศเมื่อมองจากนอกประเทศดูแล้วขาดความมีเสถียรภาพในระยะยาวก็อาจจะเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติอาจจะเลือกไปประเทศเพื่อนบ้านเราแทนถึงแม้ว่าอะไรบางอย่างของพวกเขาอาจจะไม่สามารถเปรียบเทียบกับประเทศไทยได้ก็ตาม

การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจจะต้องการอะไรบางอย่างที่ส่งเสริมหรือเกื้อหนุนต่อการซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่าแค่เรื่องของการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนองเท่านั้น เพราะคนไทยมากกว่า 90% ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อการโอนกรรมสิทธิ์ แต่ปัจจุบันการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้นมีความเข้มงวด รวมไปถึงมีข้อพิจารณาที่อาจจะมากเกินไป ทำให้อัตราการที่ผู้ที่ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินโดนปฏิเสธสินเชื่อมีมากถึง 60 – 70% โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่มีรายได้ไม่มาก หรือคนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ขอสินเชื่อบางส่วนอาจจะมีปัญหาเรื่องของภาระหนี้สิน หรือการขาดส่งหนี้สินบางอย่างจริง รวมไปถึงผู้ที่ขอสินเชื่อบางส่วนที่สถานะการเงินในปัจจุบันไม่มีปัญหาอะไร แต่สถาบันการเงินไปพิจารณาหรือดูปัญหาของพวกเขาในอดีตจนมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้ขอสินเชื่อบางกลุ่มอาจจะไม่มีปัญหาเพียงแต่สถาบันการเงินเพิ่มปัจจัยบางอย่างในการพิจารณาทำให้ความเป็นไปได้ในการได้รับสินเชื่อของพวกเขาลดน้อยลง หรือปรับลดวงเงินสินเชื่อลงต่ำกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจาก พวกเขาไม่ต้องการใช้เงินตนเองในการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้การขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจระยะยาวก็มีผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นการสร้างภาระหนี้สินในระยะยาว เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นในการสถานการณ์ทำงานของตนเอง


แนะรัฐระดมสมองอสังหาฯ
ฟังปัญหารวมแนวทางแก้-กระตุ้นตลาด

มาตรการหรือนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากกว่าปัจจุบันผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาลหรือช่องทางอื่นๆ คาดว่าจะสร้างความเชื่อมั่น และเกิดการซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยได้มากกว่าแค่เรื่องของการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนองแบบที่ผ่าน ๆ มา นอกจากนี้ ถ้ามีการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ เข้ามารับหน้าที่ในการช่วงเหลือโดยตรงให้กับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และผู้ที่ต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทั้งในฝั่งของผู้ซื้อ และผู้ขาย อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งเป็น 1 ในธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ รวมไปถึงเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ถ้าธุรกิจอสังหาฯสามารถเดินหน้าไปได้ก็จะเป็นการดีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย


รัฐบาลอาจจะมีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าพบและรับทราบถึงการแก้ปัญหาของพวกเขาว่าดำเนินการอะไรไปเองบ้าง และแบบใดที่ได้รับผลตอบรับรวมไปถึงมีผลลัพธ์ที่ดี เพื่อที่จะได้เอามาเป็นแนวทางในการออกมาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ ซึ่งจะได้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังมีผลลัพธ์ที่ผ่านการทดลองมาแล้วให้พิจารณาด้วย รวมไปถึงควรมีความร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อให้ความรู้เรื่องการซื้อที่อยู่อาศัย และขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรืออาจจะรวมไปถึงเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากคค่าโอนกรรมสิทธิ์ ภาษี และค่าจดจำนองในกรณีที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินด้วย เพราะคนไทยไม่น้อยที่อาจจะยังเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไม่ครบถ้วน หรือเรื่องที่พวกเขาเข้าใจอาจจะล้าสมัยไปแล้ว

การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ยังเป็นการลดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อGDP แบบทางอ้อมด้วย ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และลดปัจจัยลบบางอย่างออกจากข่าวด้านเศรษฐกิจบ้าง เพราะช่วงหลังมีการพูดถึงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อGDP ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว คือ เรื่องของการลงทุนในEEC ทั้งในส่วนของการลงทุนจากรัฐบาล และเอกชนภายในประเทศไทย รวมไปถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น และการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมแบบเดิมที่ประเทศไทยดำเนินการมายาวนานไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อที่จะได้สร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะที่กำลังออกจากประเทศจีนมายังอาเซียนให้มากกว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดการสร้างแรงดึงดูดใหม่ๆ มานานเกินไป จนประเทศเพื่อนบ้านสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากกว่าไปแล้ว

การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันก็ควรเป็นอีกเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยเร็ว เพราะคุณภาพทางการศึกษาก็มีผลต่อการเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศด้วย แต่ที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องของรัฐบาลควรเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และอยู่ได้ยาวนาน หรือครบตามวาระไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็ควรให้เป็นไปตามระบบรัฐสภา

ปฏิมา จีระแพทย์
 ปัญหาเศรษฐกิจรอต่อไปอีกไม่ได้

นายปฏิมา จีระแพทย์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ ประเทศของเราอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองจนละเลยความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาปากท้องและการทำมาหากินของประชาชน ดังนั้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน หากปัญหาเศรษฐกิจที่ถาโถมมันใหญ่มากจนยากจะแก้ด้วยโครงการเดียว ผมขอแยกปัญหาเพื่อให้แต่ละภาคส่วนกำหนดแผนแก้ปัญหาง่ายขึ้น ดังนี้

1. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่ รายได้และทรัพย์สินถูกกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรวย ในขณะที่คนชนชั้นล่างและชนชั้นกลางประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูง

2. หนี้ครัวเรือนสูง ระดับหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยอยู่ในระดับสูง เป็นภาระหนักต่อครอบครัวส่วนใหญ่ และทำให้การบริโภคภายในประเทศอ่อนแอลง

3. อัตราการว่างงานและการขาดแคลนงานที่มั่นคง แม้ประเทศไทยจะมีอัตราการว่างงานที่ต่ำในเชิงตัวเลขแต่ปัญหาคือการขาดงานที่มั่นคงและการจ้างงานที่มีคุณภาพทำให้หลายคนต้องทำงานที่ได้รับค่าจ้างที่ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว

4. ปัญหาทางการเกษตร ราคาสินค้าเกษตรไม่เสถียร การพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรเป็นรายได้หลักในหลายภูมิภาคและปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วมส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอนและเป็นหนี้สินมากขึ้น

5. การขาดทักษะแรงงานที่ทันสมัยทักษะของแรงงานไทยไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศอื่น

6.การพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอก เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจหรือโรคระบาด ความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงช้า

7. การชะลอตัวของการลงทุน ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายที่ไม่ต่อเนื่องทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศลังเลที่จะลงทุนในประเทศไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่เติบโตเท่าศักยภาพที่มี

8. ภาระทางงบประมาณของรัฐบาล การจัดการงบประมาณและหนี้สาธารณะของรัฐบาลเป็นความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลต้องใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนโครงการสวัสดิการต่างๆ ในขณะที่รายได้จากภาษีไม่เพียงพอ

ปัญหาข้างต้นจะสามารถแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อทำงานอย่างจริงจังและเป็นระบบ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนเร็วที่สุด จึงขอฝากให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จัดเรียงลำดับความสำคัญ และจัดวางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นวาระเร่งด่วนที่สุด เพราะชีวิตคนไทยที่ไม่มีจะกิน ผู้ประกอบการSMEs จำนวนมากที่ประสบปัญหา รอการแก้ไขปัญหามานาน และคงรอต่อไปอีกไม่ได้แล้วครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น