ธนาคารกรุงไทย เติบโตตามยุทธศาสตร์ ไตรมาส 2 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ จำนวน 11,195 ล้านบาท มุ่งเน้นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น บริหารพอร์ตสินเชื่อได้อย่างสมดุล รักษา Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางแก้หนี้อย่างยั่งยืน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/2567 เทียบกับไตรมาส 1/2567 ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวัง ติดตามคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด รักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 181 ตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมาเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และบริหารจัดการ Portfolio เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ
ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 11,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.1 โดยรายได้รวมจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.1 สินเชื่ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2566 แม้ปรับลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาจากการชำระคืนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อภาครัฐ ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นๆ ลดลงร้อยละ 7.3 จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.7 สินเชื่อด้อยคุณภาพปรับลงอยู่ที่ระดับ 98,701 ล้านบาท และ NPLs Ratio ที่ร้อยละ 3.12
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 22,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 โดยมีรายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวร้อยละ 12.9 ทั้งจากการบริหารจัดการ Portfolio เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.6
ณ 30 มิถุนายน 2567 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 17.57 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 20.75 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่องสูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวท่ามกลางความท้าทายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ทั้งนี้ การฟื้นตัวยังต่ำกว่าศักยภาพ และเป็นการฟื้นตัวแบบ K-shaped Recovery โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงมาตรการเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภคในระยะข้างหน้า ขณะที่ภาคการส่งออกฟื้นตัวได้จำกัดจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงกดดันจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในขณะที่มีค่าครองชีพสูงขึ้น ธุรกิจ SME รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่อยู่นอกระบบยังเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวจึงฟื้นตัวได้ช้า รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน
"ธนาคารกรุงไทยดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ มุ่งเน้นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น รักษา Coverage Ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ พร้อมดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่มุ่งสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้สูงให้สามารถปรับตัวและฟื้นตัว ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้พัฒนารูปแบบการช่วยเหลือให้ครอบคลุมและตรงจุด เช่น มาตรการรวมหนี้และแก้หนี้อย่างยั่งยืนตามลักษณะและประเภทของกลุ่มลูกค้าเปราะบาง โดยยึดมั่นในแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) สนับสนุนให้ธนาคารเติบได้โตตามเป้าหมาย ทั้งในด้านคุณภาพสินทรัพย์ และการบริหาร Portfolio เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ"