ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า SCB แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.67 ยุติให้บริการแอปพลิเคชัน “Robinhood” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่บริการจัดส่งอาหาร บริการด้านท่องเที่ยวและบริการยานพาหนะ ผ่านแอปของบริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส ซึ่ง SCB ถือหุ้น 100% โดยจะปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.67 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ บริษัทเพอร์เพิล เวนเจอรส์ รายงานขาดทุนสุทธิ 1.34 พันล้านบาท 1.99 พันล้านบาท และ 2.16 พันล้านบาทในปี 64, 65 และ 66 ตามลำดับ (ที่มา:กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ CGSI เชื่อว่า ตลาดน่าจะตอบสนองเชิงบวกต่อข่าวการปิดแอปพลิเคชันดังกล่าว แต่นักลงทุนอาจเริ่มมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการผลักดันการเติบโตของธุรกิจใหม่และการดำเนินกลยุทธ์การทำธุรกิจตามแผนที่วางไว้
แอปพลิเคชัน Robinhood เป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจ Gen 3 ของ SCB ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการสร้าง Digital lifestyle สำหรับคนไทยและเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำในธุรกิจบริการขนส่ง On-demand อย่างไรก็ตาม SCB ไม่ได้ให้รายละเอียดส่วนอื่น รวมถึงผลกระทบต่อเป้าหมายทางการเงินปี 67 ในหนังสือแจ้งตลาด
แต่หากตั้งสมมติฐานว่า SCB ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการปิดบริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส ประมาณการกำไรสุทธิในปี 67 ที่ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI น่าจะมี upside 5.2% ส่วนผลกระทบต่อราคาเป้าหมายน่าจะมีจำกัด
SCB เริ่มรุกธุรกิจบริการจัดส่งอาหารหรือ Food delivery ในเดือน ต.ค.63 ด้วยการเปิดตัวแอป Robinhood ต่อมายกระดับให้บริการด้วยการเปิดตัวบริการด้านการท่องเที่ยวในปี 65 และบริการยานพาหนะในปี 66 ทั้งนี้ Robinhood เป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กสุดในกลุ่มผู้เล่น 4 รายในไทย ได้แก่ Grab, Lineman, Foodpanda และ Robinhood โดย Robinhood มีผู้ใช้งานแอป 4.3 ล้านราย ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนด้วย 380,000 ราย และมีไรเดอร์และคนขับรถรวม 35,000 ราย
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ยังแนะนำ “ถือ” SCB ที่ราคาเป้าหมายเดิม 100 บาทในปี 67 โดยราคาเป้าหมายจะเท่ากับ P/BV 0.69 เท่า ในปี 67 ภายใต้สมมติฐาน ROE ที่ 7.5%, Cost of equity 9.9% และอัตราการเติบโตระยะยาว 2.0% ปัจจัยหนุนคือผลตอบแทนจากเงินปันผลที่น่าสนใจอัตรา 9.5-10.3% ต่อปี และ ROE ที่คาดไว้สูงถึง 8.7-9.3% ในปี 67-69