ธนาคารกรุงไทยลงนามความร่วมมือกับ “สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัด” เดินหน้าเร่งแก้ปัญหาหนี้ข้าราชการยั่งยืนของสมาชิกสหกรณ์ฯ มุ่งช่วยเหลือข้าราชการกลุ่มเปราะบาง ลดภาระทางการเงิน มัดรวมหนี้ทุกประเภทไว้ที่กรุงไทย รับดอกเบี้ยต่ำคงที่ตลอดสัญญา ขยายเวลาผ่อนชำระสูงสุดถึงอายุ 80 ปี พร้อมส่งเสริมความรู้ สร้างวินัยทางการเงิน ตามแนวทางแก้หนี้ยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนาม และมีนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการ ผ่านการผลักดันโครงการสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน โดยร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ในการแก้ไขปัญหาหนี้แบบองค์รวมอย่างเป็นระบบ โดยเน้นให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือข้าราชการกลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้สูง มีเงินเหลือใช้ในแต่ละเดือนไม่ถึง 30% ส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และทำให้ต้องไปกู้เพิ่มเพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนมีหนี้กระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง และอยู่ในวงจรหนี้ไม่จบไม่สิ้น
ทั้งนี้ สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน มีแนวทางให้ข้าราชการกลุ่มเปราะบางสามารถรวมหนี้รายย่อยทุกประเภท ทั้งสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ จากทั้งธนาคารกรุงไทยและสถาบันการเงินอื่นๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.สินเชื่อแบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งสินเชื่อบ้าน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) และสินเชื่อบ้านแลกเงิน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 3.50% ต่อปี 3 ปีแรก หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา (อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา 4.49% ต่อปี โดยคำนวณจากวงเงินกู้ 1 ล้านบาท อายุสัญญาสูงสุด 40 ปี ผ่อนชำระ 4,700 บาท/เดือน) โดยได้รับยกเว้นค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ประกัน เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด 2.สินเชื่อแบบไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา
ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ด้วยการออกมาตรการ 4 มาตรการ คือ 1) กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สมาชิกสหกรณ์ 2) ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ 3) กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมยอดหนี้ของสมาชิก ให้มีเงินได้รายเดือนคงเหลือหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 30% และ 4) กำหนดหลักเกณฑ์ผ่อนชำระเงินกู้ เฉพาะส่วนที่เกินทุนเรือนหุ้นที่สมาชิกถือไว้กับสหกรณ์ สอดคล้องกับ “โครงการแก้หนี้ข้าราชการยั่งยืน” ของธนาคารกรุงไทย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการประชุมร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมฯ จำนวน 1,300 คน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์การแก้หนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างชัดเจน โดย ณ ตอนนี้ ส่วนที่เป็นสวัสดิการข้าราชการที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 131 แห่งตามมาตรการของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และยังมีการสนับสนุนให้มีการจัดประชุมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์ใน 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี กาญจนบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก ระยอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี
นายโอภาส กลั่นบุศย์ ประธานกรรมการ สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของสหกรณ์นั้นได้มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ และบางส่วนมีการแก้ไขระเบียบเพื่อช่วยเหลือสมาชิก พร้อมกำหนดเป้าหมายแรกในการที่สหกรณ์จะดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกในการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยสหกรณ์มีมาตรการ 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 การเร่งแก้ไขปัญหาหนี้โดยสหกรณ์ดำเนินการเอง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และแนวทางของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ มาตรการที่ 2 การแก้ไขปัญหาหนี้โดยร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย และสหกรณ์เพื่อเป็นทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งของสมาชิกที่ต้องการจะบริหารหนี้สินที่มีอยู่กับสหกรณ์ และสถาบันการเงินอื่นๆ ตามโครงการสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการอย่างยั่งยืนที่ธนาคารกรุงไทยจัดทำขึ้น มุ่งให้การช่วยเหลือข้าราชการและลดภาระทางการเงินโดยมัดรวมหนี้ทุกประเภทไว้กับธนาคารกรุงไทย ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนชำระสูงสุดถึงอายุ 80 ปี
"การแก้ไขปัญหาหนี้ โดยร่วมกับธนาคารกรุงไทย เป็นทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งของสมาชิกที่จะบริหารหนี้สินที่มีอยู่กับสหกรณ์ และสถาบันการเงินอื่นๆ ช่วยลดภาระทางการเงินโดยมัดรวมหนี้ทุกประเภทไว้กับธนาคารกรุงไทย ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนชำระสูงสุดถึงอายุ 80 ปี ช่วยผ่อนปรนหนี้ บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินให้สมาชิกสหกรณ์ มีการบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ และสมาชิกมีเงินได้รายเดือนคงเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินได้รายเดือน"