xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.67 ติดตามสถานการณ์การเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 36.30-37.00 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (17 มิ.ย.) ที่ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 36.77 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 36.65-36.77 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำสามารถรีบาวนด์ขึ้นได้เกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรปที่กดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ความวุ่นวายของการเมืองยุโรปมีส่วนช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลง ทำให้โดยรวมเงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน และยังคงติดอยู่แถวโซน 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ แต่เงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นได้ หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรป

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่าควรจับตาสถานการณ์การเมืองไทยและการเมืองยุโรปที่อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงิน พร้อมรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเศรษฐกิจหลักและผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าได้ชะลอลงบ้าง ทว่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ หากความไม่แน่นอนของการเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย พร้อมกันนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำและเงินหยวนของจีน (CNY) โดยเงินหยวนอาจแข็งค่าขึ้นบ้างหากผู้เล่นในตลาดเชื่อมั่นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนมากขึ้น

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าแม้ผู้เล่นในตลาดจะเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แต่เงินดอลลาร์อาจยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินยูโร (EUR) ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองยุโรป นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อได้ไม่ยาก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น