xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน "ทรงตัว" ต่อเนื่อง 4 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และนโยบายของเฟด ปัจจัยฉุดคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเงินเฟ้อ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 23-31 พฤษภาคม 2567) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.72 โดยยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รองลงมาคือสถานการณ์เงินเฟ้อ และความผันผวนของค่าเงินบาท

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤษภาคม 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2567) อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ที่ระดับ 100.72

ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง"

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD)

หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ผลสำรวจ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 26.7% มาอยู่ที่ระดับ 96.88 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 28.6% มาอยู่ที่ระดับ 100.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 0.7% มาอยู่ที่ระดับ 122.22 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทรงตัว อยู่ที่ระดับ 100.00 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 SET Index แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด และดัชนีปรับตัวลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนตามทิศทางหุ้นภูมิภาคจากความกังวลว่า FED อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงต่อไป อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลกระทบจากแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อปรับลดความเสี่ยงก่อน MSCI จะประกาศปรับหุ้นเข้า/ออกจากการคำนวณดัชนีในช่วงปลายเดือน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังไม่คลี่คลาย 

โดย SET Index ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 ปิดที่ 1,345.66 ปรับตัวลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 45,162 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 16,566 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 81,641 ล้านบาท

โดยปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะเป็นผลจากนโยบายการเงินที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังจากประกาศแผนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี และแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอน ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความผันผวนของค่าเงินบาท แผนการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงปลายปี 2567 และเสถียรภาพการเมืองไทยที่ยังสร้างความกังวลให้นักลงทุนต่างชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น