อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป เผยปีบัญชี 66/67 (เม.ย.67-มี.ค.68) EPG ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 8-10% ด้วยการมุ่งสร้างการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจหลัก พร้อมพัฒนาสินค้านวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 30-33% มาจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก
รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG เปิดเผยว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 67-68 ที่ 3.2% โดยการฟื้นตัวทั่วโลกเป็นไปอย่างช้าๆ แต่มีเสถียรภาพ และแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มีแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ
ปัจจัยดังกล่าวเป็นความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจในตลาดโลกของ EPG โดยในปีบัญชี 67/68 (เม.ย.67-มี.ค.68) บริษัทมุ่งเน้นการดำเนินงาน ดังนี้
1) สร้างการเติบโตแบบ Organic Growth: ด้วยสินค้าประเภทเดิมและสินค้านวัตกรรมที่ออกใหม่ของทุกกลุ่มธุรกิจ ทำให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุม สามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่
2) มุ่งมั่นทำการวิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์สินค้านวัตกรรมสร้าง New S-Curve เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลัก และเพื่อสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ในอนาคต
3) ร่วมวางแผนและปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจร่วมทุนในแอฟริกาใต้
4) ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในปีบัญชี 66/67 (เม.ย.67-มี.ค.68) EPG ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 8-10% อัตรากำไรขั้นต้นที่ 30-33% มาจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 6-8% มาจากสินค้าฉนวนกันความร้อน/เย็น เกรดพรีเมียม ที่มุ่งเน้นทำการตลาดในประเทศ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับสินค้าเพื่อใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรม Ultra Low Temperature Insulation และระบบ Air Ducting system เน้นทำการตลาดมากขึ้นทั้งในประเทศ และสหรัฐอเมริกา สำหรับกลุ่มลูกค้าโครงการในประเทศ Aerolex ยังได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมาตั้งที่ EEC และในสหรัฐอเมริกากลุ่มลูกค้าโครงการที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่ม Semi-Conductor/ Cloud/ และยานยนต์ เป็นต้น
ฉนวน Aeroflex ตอบโจทย์การประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้การรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ โดยเป็นบริษัทต้นแบบของกลุ่มธุรกิจ EPG ที่สามารถตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ Net Zero Emission ในปี พ.ศ.2585 และมีแผนงานรองรับอย่างเป็นรูปธรรม
ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 10-12% มาจากการพัฒนาสินค้านวัตกรรมร่วมกับลูกค้ากลุ่ม OEM ค่ายยานยนต์ของยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากโพลีเมอร์และพลาสติกเพื่อให้มีน้ำหนักเบา มีความทนทาน สามารถใช้ทดแทนวัสดุประเภทโลหะได้อย่างสมบูรณ์ทำให้รถกระบะมีน้ำหนักเบาลง ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สำคัญได้รับมาตรฐานความปลอดภัย จึงทำให้ค่ายยานยนต์ให้ความไว้วางใจเลือก Aeroklas เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลากหลายประเภทซึ่งจะทยอยออกสู่ตลาดภายในปีบัญชีนี้ นอกจากนี้ Aeroklas จึงมีโครงการพัฒนาสินค้านวัตกรรมสำหรับยานยนต์ทั้ง ICE และ EV ร่วมกับค่ายยานยนต์เพื่อสร้างสินค้า New S-Curve อย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจในออสเตรเลียภายใต้ Aeroklas Asia Pacific Group (AAPG) ยังคงอยู่ในช่วงการพลิกฟื้นธุรกิจ โดยเสริมการทำงานร่วมกันของธุรกิจและทุกแบรนด์ในออสเตรเลีย เช่น Aeroklas Fitment Center มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจ Fleet and OEM
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 3-5% EPP ตั้งเป้าหมายขยายส่วนแบ่งการตลาดสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบรนด์ eici ด้วยมาตรฐานต่างๆ เช่น มอก. GMP HACCP BRC และล่าสุด FSC (Forest Stewardship Council) จึงทำให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเลือก EPP เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา EPP ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจึงพร้อมเพิ่มการผลิตหากคำสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกเริ่มปรับตัวดีขึ้น
EPP ใช้นวัตกรรมพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อช่วยลดของเสียจากการผลิต พร้อมนำเสนอบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุม ได้แก่ บรรจุภัณฑ์กระดาษ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น
ธุรกิจร่วมทุนกลุ่มธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น และธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ทั้งในไทย อินเดีย และจีน เติบโตได้ดีตามกลุ่มอุตสาหกรรม สำหรับธุรกิจร่วมทุนในแอฟริกาใต้ บริษัทและผู้ลงทุนรายอื่นได้ส่งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าไปดูแล ติดตาม และร่วมแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในปีบัญชี 67/68 รวม 466 ล้านบาท เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มเครื่องจักร และใช้ปรับปรุงไลน์การผลิต นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 67 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท (สิบสตางค์) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 280 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 67 ในวันที่ 24 ก.ค.67 หากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล จะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 2 ส.ค.67 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในวันที่ 21 ส.ค.67