xs
xsm
sm
md
lg

“รัฐวัฒน์ ศุขสายชล” โชว์ผลงาน ปั้น SANKO จาก S สู่ M เป็น L ปีนี้ลุ้นนิวไฮ ตั้งเป้าขาย 800 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ผ่านมาบริษัทที่เป็นที่รู้จักในสังคม ถ้าไม่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ก็ต้องเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จมาในระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง ในประเทศไทยยังมีบริษัทเล็กๆ อีกหลายบริษัทที่มีการเติบโตจากธุรกิจขนาดเล็ก สู่ขนาดกลาง และกำลังก้าวเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โดยการที่จะมาถึงจุดนี้ได้ ล้วนแล้วแต่มีผู้บริหารที่เก่งและเฮง มีการวางแผนงานและกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถที่จะนำไปใช้เป็นแบบอย่างให้กับธุรกิจอื่นๆ ได้ศึกษาและเรียนรู้

บริษัท ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SANKO หนึ่งในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กว่าจะมีวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาการเติบโตจากบริษัทขนาดเล็ก มาเป็นบริษัทขนาดกลาง และขนาดเกือบใหญ่ รวมๆ แล้วใช้เวลาประมาณ 27 ปี โดย “นายรัฐวัฒน์ ศุขสายชล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SANKO” ได้ให้สัมภาษณ์เล่าถึงที่มาที่ไป ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และทิศทางที่จะเดินต่อไปในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม

นายรัฐวัฒน์ ศุขสายชล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SANKO
เริ่มต้นจากบริษัทขนาดเล็ก

นายรัฐวัฒน์เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของซังโกะว่า เดิมบริษัทแม่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น มองเห็นศักยภาพในการลงทุนที่ไทย ก็เลยเข้ามาตั้งโรงงานที่ไทย โดยช่วงที่เข้ามาพอดีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี 2539-40 เข้ามาลงทุนการผลิตเกี่ยวกับการหล่อชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และเป็นบริษัทที่รับจ้างผลิต ทำการผลิตสินค้าตามออเดอร์ ตอนนั้นต้องลงทุนทำแม่พิมพ์เพื่อผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ เมื่อมีรายการใหม่ ก็ต้องเปลี่ยนแม่พิมพ์ใหม่เรื่อยๆ ทำให้ต้องลงทุนมาก และมีปัญหาสภาพคล่อง ธุรกิจก็เริ่มมีปัญหา

ตอนนั้นผมเริ่มเข้าไปทำงานที่นี่ ก็คิดว่าทำธุรกิจแบบนี้ต่อไปไม่ได้ แต่จะทำอะไรดี ที่ยังสามารถใช้พื้นฐานจากการลงทุนที่มีอยู่ ใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ได้ ก็เลยมาจบที่การทำชิ้นส่วนยานยนต์ จากนั้นก็ทำเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหลัก และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับ และลูกค้าพอใจ


แต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์

จากนั้นเราวางแผนที่จะนำบริษัทเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2554 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เข้าเทรด พ.ค. 2556 โดยขายไอพีโอในราคา 1.30 บาทต่อหุ้น จากราคาพาร์ 50 สตางค์ ขายบุคคลทั่วไป 44 ล้านหุ้น ขายหุ้นให้พนักงาน หรือ ESOP ราวๆ 6 ล้านหุ้น รวมน่าจะประมาณ 50 ล้านหุ้น เมื่อเปิดขายหุ้น เปิดมา 3.68 บาท สูงสุด 3.82 บาท ปิดที่ 2.80 บาท ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถระดมทุน ที่จะนำมาขยายธุรกิจได้

ต่อมา เมื่อเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เดินหน้าพัฒนามาตรฐาน โดยมาตรฐานที่กำหนดไว้ในอุตสาหกรรมมีอะไรบ้าง เราตั้งใจจะทำให้ได้ทั้งหมด จนได้รางวัลมามากมาย ตั้งแต่เป็นโรงงานที่รับผิดชอบต่อสังคม มีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย การจัดการด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการด้านพลังงาน ISO 50001 ระบบจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ระบบการจัดการด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ IATF 16949 และระบบการจัดการด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ ISO 9001 เป็นต้น และทุกวันนี้ ก็ยังจะเดินหน้าพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง


ธุรกิจที่ทำและรายได้ที่ผ่านมา

ปัจจุบันเรารับจ้างผลิตชิ้นส่วนหล่อโลหะขึ้นรูปโดยใช้แม่พิมพ์ ซึ่งสินค้าหลักๆ ยังคงเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตรงนี้มีสัดส่วนรวมกันประมาณ 80% เป็นชิ้นส่วนยานยนต์ 60% รถจักรยานยนต์ 20% ที่เหลือเป็นชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลการเกษตร และอื่นๆ อาทิ ของตกแต่งบ้าน 

ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทมีรายได้ประมาณปีละ 200 ล้านบาท แต่หลังจากเข้าตลาดฯ รายได้ก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ เป็น 300-400 ล้านบาท พอมาปี 2019 เพิ่มเป็น 600 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท ปี 2020 เป็นปีที่เจอโควิด-19 และยังประสบปัญหาเรื่องชิปขาดแคลน ยอดสั่งซื้อชิ้นส่วนลดลง รายได้ลดลงดรอปลงมาเหลือ 450 ล้านบาท ขาดทุน 35 ล้านบาท แต่พอมาปี 2021 เราฟื้นตัว รายได้เพิ่มเป็น 651 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท ปี 2022 รายได้ 717 ล้านบาท กำไร 22 ล้านบาท และปีล่าสุด 2023 รายได้ 769 ล้านบาท กำไร 54 ล้านบาท ถือว่าทั้งรายได้ และกำไรทำนิวไฮสูงสุดตั้งแต่ตั้งบริษัทมา

“ดูย้อนหลัง ถ้าไม่เจอวิกฤตโควิด-19 เราโตได้ทุกปี มีกำไรทุกปี และปี 2567 นี้ก็ยังตั้งเป้าโต โดยรายได้คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท และผลกำไรน่าจะไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ระดับ 7% เนื่องจากมีแผนทั้งการควบคุมต้นทุน หาทางเพิ่มรายได้ และมุ่งขยายธุรกิจ ซึ่งได้วางแผนเอาไว้แล้ว ตอนนี้กำลังดำเนินการ” นายรัฐวัฒน์กล่าว


เปิดแผนงาน-เป้าหมายปี 67

นายรัฐวัฒน์กล่าวว่า สำหรับแผนการขับเคลื่อนการทำงานในปี 2567 จะยังเดินหน้าในธุรกิจที่เราแข็งแกร่งต่อ ตอนนี้ใช้กำลังการผลิตไปแล้วกว่า 80% ซึ่งหากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเติม จำเป็นต้องลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ก็จะพิจารณาการลงทุนอย่างรัดกุม

ส่วนแผนการสร้างการเติบโตให้กับบริษัท เรามีแผนขยายการลงทุน โดยมีหลัก คือ การเติบโตอย่างมั่นคง และต้องประเมินความเป็นไปได้ เพราะขณะนี้สภาพเศรษฐกิจไม่ชัดเจน มีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม วิกฤตการเงินในบางประเทศ ทำให้ต้องยึดหลักสร้างสมดุล ไม่เร็ว ไม่ช้า ไม่ลงทุนที่สร้างภาระเรื่องเงินทุนและดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดถือมาโดยตลอด และทำให้เราแข็งแกร่งมาจนถึงวันนี้

โดยแผนการขยายธุรกิจ บริษัทมีแนวคิดที่จะร่วมทุน เพราะวิธีนี้ไม่ใช่แค่ลงทุนอย่างเดียว เรายังได้โนว์ฮาว ได้ความรู้ ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีการพูดคุยกับบางบริษัทบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ขณะเดียวกัน บริษัทเริ่มทดลองผลิตสินค้าตัวใหม่ คือ สินค้าตกแต่งบ้านที่หล่อด้วยวิธีการ Lost Wax ซึ่งบริษัทมีจุดแข็งในเรื่องงานหล่ออยู่แล้ว โดยสินค้าที่ผลิตออกมานั้นเป็นแนวโมเดิร์นและงานศิลปะ คุณภาพมาตรฐานอยู่ในระดับดี แต่ราคาจับต้องได้ ซึ่งเราใช้เศษโลหะ เศษชิ้นส่วนที่เหลือๆ จากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เอามาหล่อ เป็นการเอาของเหลือใช้มารีไซเคิล ซึ่งปัจจุบันสินค้านี้อยู่ในขั้นตอนการทำการตลาด

สำหรับการหาช่องทางการใช้ประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโต ในปัจจุบันได้มีการผลิตชิ้นส่วนบางอย่างให้กับรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว เช่น คอมเพรสเซอร์แอร์ ชุดไฟหน้ารถ เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ร่วมกันได้ระหว่างรถยนต์สันดาปกับรถยนต์ไฟฟ้า แนวโน้มการเติบโตก็จะดีตามการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า


อยากให้รัฐช่วยเอสเอ็มอีให้สุด

นายรัฐวัฒน์กล่าวถึงปัญหาของผู้ประกอบการ SME ในปัจจุบันว่า ทุกวันนี้ SME ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลและผ่อนผันหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ ไม่ใช้หลักเกณฑ์ปกติ เพื่อให้ธุรกิจ SME อยู่รอด

อย่าง SANKO ทุกวันนี้ อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านแรงงานที่มีทักษะความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ทั้งการผลิต การออกแบบ การควบคุมเครื่องจักร ซึ่งหวังให้สถาบันการศึกษาพัฒนาและผลิตแรงงานให้ตรงตามความต้องการ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะมีแรงงานแบบเดิมๆ ขณะที่อุตสาหกรรมมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมต่างๆ จะมีการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนเพิ่มมากขึ้น อย่างบริษัทก็เริ่มมองไว้ ตอนนี้เริ่มปรับเปลี่ยน นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น และที่ทำไปแล้ว คือนำเอาระบบ IT เข้ามาช่วยในการทำงานแบบเรียลไทม์ เปิดดูได้หมดว่าตอนนี้ผลิตอะไร เท่าไร ของทำเสร็จแล้วเท่าไร ส่งไปที่ไหน สต๊อกคงเหลือเท่าไร ทำให้เราวางแผนการผลิตได้ ทำแบบนี้ทำให้บริหารต้นทุนได้ ต้นทุนต่อหน่วยลดลง และมีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้มากขึ้น และต่อไปก็จะดูเรื่องเครื่องจักร เพราะอนาคตมันไปทางนี้


ตั้งเป้าเติบโตไปด้วยกัน

ทั้งหมดนี้คือแผนงาน และสิ่งที่นายรัฐวัฒน์ ในฐานะคีย์แมนคนสำคัญของ SANKO ตั้งเป้า และตั้งใจที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อน SANKO ในปีนี้ และในปีต่อๆ ไป เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย ที่จะเป็นบริษัทที่มีรายได้ในระดับพันล้านภายใน 2-3 ปีนี้ให้ได้

“เราขอบอกผ่านไปยังผู้ถือหุ้น และผู้ที่ให้ความไว้วางใจเข้ามาซื้อหุ้น หรือลงทุนกับ SANKO ขอให้มั่นใจได้ว่าเราจะทำให้ดีที่สุด และขอให้เชื่อใจว่าจะขับเคลื่อนบริษัทอย่างระมัดระวัง รัดกุม และยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง เราบอกไม่ได้ว่าราคาหุ้นจะไปทิศทางไหน แต่เราจะทำให้ผลงานเป็นตัวสะท้อน ก็อย่างที่บอก ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้ ไล่ไปเรื่อยๆ จนจบปี เรามั่นใจว่าจะทำผลงานนิวไฮได้แน่ๆ ขอให้เชื่อใจ และมาเติบโตไปพร้อมๆ กัน” นายรัฐวัฒน์สรุป




กำลังโหลดความคิดเห็น