xs
xsm
sm
md
lg

YLG ชี้ทองคำโลกขุดได้อีกแค่ 19 ปี หากไม่พบสายแร่ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์






วายแอลจีชี้เผยทองคำพักฐานระยะสั้นหลังพุ่งร้อนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีปรับตัวขึ้นมาแล้วเกือบ 14% ระยะยาวยังเป็นขาขึ้นชัดเจน พบปัจจัยหนุนแข็งแกร่ง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังน่ากังวล ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ การเข้าซื้อของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงปริมาณทองคำที่เริ่มเหลือน้อย คาดทั่วโลกมีให้ขุดเพิ่มอีกเพียง 19 ปี เทียบจากปริมาณการขุดแต่ละปีที่ 3,000 ตัน มองทิศทางการเคลื่อนไหวปีนี้มีโอกาสทดสอบ 2,450-2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ หากผ่านได้เตรียมทดสอบ 2,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ส่วนแนวรับคาดรอทดสอบแนวรับสำคัญที่ระดับ 2,277 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ 

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ราคาทองคำในตลาดโลกอยู่ในช่วงของการพักฐานระยะสั้น หลังจากที่ปรับขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง นับจากต้นปี 2567 จนถึงวันที่ 4 มิ.ย. ณ เวลา 15.15 น. ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาแล้ว 13.22% สู่ระดับ 2,335 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ขณะที่ทองคำในประเทศ 96.5% ปรับตัวขึ้นมากถึง 20.21% สู่ระดับ 40,450 บาทต่อบาททองคำ รับปัจจัยเสริมจากทิศทางเงินบาทที่อ่อนค่า โดยจากการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากจึงเริ่มมีการขายทำกำไรและส่งผลให้เกิดการพักฐานระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาวภาพรวมของแนวโน้มราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งจากปัจจัยบวกด้านความกังวลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการเข้าซื้อของธนาคารกลางทั่วโลก ขณะเดียวกัน ปัจจัยพื้นฐานของทองคำเองส่งผลให้เกิดแรงหนุนต่อการปรับตัวขึ้นในระยะยาวเช่นกัน

โดยเฉพาะปริมาณทองคำทั่วโลกที่สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่าเหลืออยู่ปริมาณ 59,000 ตัน ซึ่งหากเทียบจากปริมาณการขุดทองคำเฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 ตัน จะเท่ากับเหลือทองคำให้ขุดได้อีกเพียง 19 ปี หากไม่มีการสำรวจพบสายแร่ทองคำใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณทองคำรีไซเคิลที่นำกลับมาหมุนเวียนหลอมใหม่นั้นพบว่ามีเพียงปีละ 1,000 ตันเท่านั้น ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วไม่เพียงพอต่อความต้องการทองคำทั่วโลกที่สูงกว่า 4,000 ตันต่อปี จึงสะท้อนว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อถือครองในระยะยาว มีเพียง 25% ที่ถูกนำออกมาขายกลับเข้าสู่ตลาด ปัจจัยเหล่านี้จึงยังคงสนับสนุนทิศทางขาขึ้นในระยะยาวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะระยะ 1-3 ปีข้างหน้า ที่ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาลง จะส่งผลให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อการแบกรับต้นทุนในภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ดี การลงทุนในทองคำแม้จะเป็นขาขึ้นในระยะยาว แต่มีการพักฐานในระยะสั้นนั้นถือเป็นโอกาสในการเล่นรอบเพื่อเก็งกำไร เนื่องจากในระยะหลังราคาทองคำมีการแกว่งตัวขึ้นลงภายในวันได้มากถึง 2-3% นักลงทุนจึงสามารถใช้จังหวะนี้เข้าเก็งกำไรระหว่างวันได้ ซึ่งการจะลงทุนแบบเก็งกำไรนั้นจะต้องติดตามข่าวความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจประกอบการลงทุน เช่น การประกาศตัวเลขในภาคผลิตและบริการ อัตราเงินเฟ้อ และตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมไปถึงนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางใหญ่ๆ เป็นต้น

สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในระยะยาว มองว่าเป็นแกว่งตัวในแนวโน้มทิศทางค่อยๆ ปรับตัวขึ้น (Sideway up) และเมื่อการพักตัวในระยะสั้นจบลง วายแอลจีมองว่ามีโอกาสกลับขึ้นไปทดสอบแนวต้านหลัก 2,450-2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ และหากผ่านได้จะไปทดสอบเป้าหมายถัดไปที่ระดับ 2,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์

ระยะสั้นแนะนำพิจารณาเข้าซื้อหากราคาเคลื่อนไหวยืนเหนือแนวรับบริเวณ 2,300-2,277 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ (2,277 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ เป็นระดับต่ำสุดของเดือน พ.ค.) ทั้งนี้ ในภาพใหญ่หากราคาไม่หลุดแนวรับสำคัญโซน 2,228 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของเดือน เม.ย. ภาพราคาทองคำในระยะยาวยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ต่อ

ทั้งนี้ในช่วงที่ราคาทองคำพักฐานนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าสะสมทองคำ โดยวายแอลจีได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Get Gold by YLG ที่วายแอลจีเปิดให้บริการสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในทองคำโดยใช้เงินลงทุนเพียง 100 บาท ได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากตอบโจทย์การลงทุนของคนรุ่นใหม่ที่สามารถซื้อขายทองคำ Gold Spot แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง เข้าถึงง่ายด้วยสมาร์ทโฟน และมีความน่าเชื่อถือ ด้านความปลอดภัย สามารถทำกำไรได้จริง โดยผู้สมัครสามารถยืนยันตัวตนพร้อมยื่นเอกสารผ่านแอปพลิเคชัน รู้ผลอนุมัติได้ภายในวันเดียว และสามารถทำการซื้อขายทองคำได้ทันที เปิดให้ลงทุนเริ่มที่ 100 บาท ไปจนถึง 80 กิโลกรัมต่อ 1 วัน ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ที่ App Store และ Play Store หรือ LINE : @ylggetgold โทร.0-2678-9888 #2


กำลังโหลดความคิดเห็น