ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ เผยธุรกิจปี 67 กลับมาเทิร์นอะราวนด์ คาดยอดขายเติบโต 10% มีปัจจัยสนับสนุนงานจากในมือแน่นอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ทยอยรับรู้ต่อเนื่อง และงานที่ติดตามอยู่ค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่เป็นงานโครงการมากถึง 70% เข้ามาเติม Backlog บอร์ดมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่าย 20 พฤษภาคมนี้
นายอนันต์ กิตติวิทยากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2567 จะกลับมาเทิร์นอะราวนด์
โดยตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 10% จากปีที่ผ่านมา และอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น งานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ราว 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ เช่น โครงการ One Bangkok โครงการ Forestias โครงการ Dusit Central Park เป็นต้น และเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย การกลับมาขยายตัวของห้างสรรพสินค้าและงานโครงการมีมากขึ้น
อีกทั้งภาคการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในปี 2567 นี้ บริษัทมีความพร้อมอย่างเต็มที่หลังจากโรงงานในเครือ คือ บ.LEM และ บ.LES ซึ่งมีประสบการณ์การผลิตสินค้าจำนวนมากๆ สามารถปรับตัวและเร่งพัฒนากระบวนการผลิต และพัฒนา supply chain เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้สินค้าของบริษัทสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงตลาดอเมริกาที่ได้ลดลงมากในปี 2566 ด้วย และได้วางแผนขยายตลาดไปประเทศอื่นๆ
ในปีนี้บริษัทจะเพิ่มช่องทางการขายโดยเน้นสินค้านวัตกรรมในงานภาครัฐมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายเปลี่ยนโคมไฟถนนเป็น LED รวมทั้งหลอดไฟ LED สำหรับโครงการภาครัฐมากขึ้น โดยปัจจุบันยังมีปริมาณงานขนาดใหญ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีงานที่ L&E อยู่ระหว่างติดตามอีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานโครงการถึง 70% อาทิ โครงการ Clound 11 Summit Tower งานศูนย์ราชการ กระทรวงมหาดไทย ตึก AIA รัชดา 2 และจ๊อดแฟร์ อาคาร 2 เข้ามาเติมอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงงานในมือที่ได้มา เช่น งานโครงการ One Bangkok ในส่วน Retail, Smart poles เป็นต้น โครงการ Forestias โครงการ Dusit Central Park, APAC Tower ศูนย์การแพทย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น มาเสริมงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ราว 1,200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ต่อเนื่อง
“บริษัทยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตธุรกิจที่เกี่ยวกับ IoT (โดยยอดขาย IoT ในปี 2566 เติบโตมากกว่า 100% จากปี 2565) โดยสินค้า IoT ที่เกี่ยวกับแสงสว่าง รวมทั้งระบบควบคุมแสงสว่างอาคาร จากประสบการณ์โครงการที่ L&E สั่งสมมาในงานโครงการใหญ่ๆ เช่น One Bangkok, Park Silom, Bytedance HQ, Data Center KTB, อาคารจอดรถ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นต้น
ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าโคมไฟอัจฉริยะรูปแบบใหม่ที่ง่ายต่อการออกแบบและติดตั้ง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบฟังก์ชันก่อนใช้งาน นอกจากนี้ บริษัทมีแผนต่อยอดพัฒนาเป็น IoT Solution เพื่อตอบสนองกับเป้าหมายของภาครัฐในการพัฒนาความเป็น Smart city ในเต่ละเมืองใหญ่ๆ ต่อไป โดยบริษัทยังคงยึดความเป็น Lighting Solution Provider เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ดำเนินธุรกิจตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เที่ยงตรง” นายอนันต์ กล่าว
นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจ Entertainment ในปี 2567 จะเน้น Hardware, Software and content โดยเติมเต็มสินค้าสำหรับงานเช่าและเพิ่มมูลค่า ด้วยเป้าหมายการเป็น Smart Rental เน้นการให้บริการสตูดิโอถ่ายทำ Virtual Production ตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นจากลูกค้าในประเทศ ต่างประเทศ และร่วมสนับสนุนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล รวมทั้งร่วมผลิต Content ทั้งใน TV และ Digital Platform เพื่อโชว์ศักยภาพของสินค้าและบริการ เสริมภาพลักษณ์ให้ L&E เป็นมากกว่าผู้นำธุรกิจ Lighting Solution ส่วนงาน Agriculture และ Biological&Wellness บริษัทเพิ่มการให้บริการครบวงจรทั้งระบบปลูก พลังงานทดแทน รวมทั้งเน้นกลุ่มพืชมูลค่าสูง รวมทั้งเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ๆ เช่น ปลาสวยงาม Aquarium lighting เป็นต้น และทำการตลาดสินค้าในกลุ่ม Wellness รวมทั้งโคมไฟและหลอดไฟ flicker-free
สำหรับผลการดำเนินงานในงวดปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 2,747 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าจำนวน 473 ล้านบาท หรือลดลง 15% สาเหตุใหญ่เป็นผลจากบริษัทย่อยแห่งหนึ่งได้ผลิตและขายสินค้าให้ลูกค้าปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านบริษัทพันธมิตรลดลง 519 ล้านบาท และยังไม่สามารถหาตลาดทดแทนมาชดเชยได้ทันในปีนี้ แม้ว่ารายได้จากการขายและให้บริการของบริษัทแม่จะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น 154 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% (ยังไม่รวมงานโครงการต่างๆ กว่า 160 ล้านบาท ที่ต้องเลื่อนการส่งมอบงานและรับรู้รายได้ไปเป็นปีถัดไป) บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนสำหรับปีจำนวน 24.1 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีกำไรอยู่ที่ 31.4 ล้านบาท
สาเหตุใหญ่มาจากการขาดทุนจากบริษัทย่อยแห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการส่งสินค้าไปขายที่ประเทศอเมริกาผ่านบริษัทพันธมิตรได้ลดลงมาก ทั้งๆ ที่บริษัทแม่ยังมีผลกำไรจำนวน 11.3 ล้านบาท กำไรที่ปรับตัวลดลง 55.5 ล้านบาท เป็นผลจากกำไรขั้นต้นจากการขายรวมรายได้อื่นปรับตัวลดลงจำนวน 26.2 ล้านบาท (แม้กำไรขั้นต้นรวมรายได้อื่นของบริษัทแม่จะเพิ่มขึ้น 73.6 ล้านบาทก็ตาม) สาเหตุใหญ่มาจากการผลิตและขายสินค้าผ่านบริษัทพันธมิตรไปประเทศสหรัฐอเมริกาของบริษัทย่อยแห่งหนึ่งได้ลดลงมาก และยังไม่สามารถหาตลาดใหม่มาทดแทนได้ทันในปีนี้ ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้ใช้งานจำนวนมาก
ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 29.6 ล้านบาท (แม้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมดอกเบี้ยจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าผ่านบริษัทพันธมิตรของบริษัทย่อยดังกล่าวได้ลดลง 41.2 ล้านบาทก็ตาม) สาเหตุใหญ่มาจาก บริษัทได้เร่งพัฒนากระบวนการผลิต และพัฒนา Supply Chain เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้สินค้าของบริษัท สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงตลาดอเมริกาที่ได้ลดลงมากในปี 2566 ด้วย และได้วางแผนขยายตลาดไปประเทศอื่นๆ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเงินเดือนประจำปี และดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจาก 2.78% ในปี 2565 เป็น 4.10% ในปี 2566 โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง 0.3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ให้การสนับสนุนบริษัทด้วยดีเสมอมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติเสนอผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมของบริษัทสำหรับผลประกอบการประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 0.04 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 19,681,603 บาท กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record Date) วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 และจ่ายเงินปันผลวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 โดยบริษัทจะจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 24 เมษายน 2567 เพื่อพิจารณามติดังกล่าว