นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 ก.พ.) ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.95-36.15 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องตามที่เราได้ประเมินไว้ว่า เงินบาทเสี่ยงจะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 36.15 บาทต่อดอลลาร์ หากอ่อนค่าทะลุระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.66-36.10 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทะลุระดับ 4.20% หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่าเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน ซึ่งช้ากว่าที่ตลาดเคยมองไว้ในการประชุมเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงแรงของราคาทองคำสู่โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานหนัก
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท การอ่อนค่าของเงินบาททะลุโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ปิดฉากเทรนด์การแข็งค่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนหน้าไปได้ ทำให้ในระยะสั้น เรามีมุมมองว่าเงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าต่อได้ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา เช่น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ตลาดกลับมาเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดยังเกิดในเดือนพฤษภาคมได้ หรือรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของไทยออกมาดีกว่าคาด ลดโอกาสการลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเข้าใกล้โซน 36.15 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากโมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงไม่อ่อนแรงลง เราคาดว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงเรามองว่าระดับการอ่อนค่าดังกล่าวถือว่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงจนถูกมาก (Undervalued) ในเชิง valuation และเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอย Sell on Rally USDTHB หรือเริ่มสะสมสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้)
อนึ่ง ราคาทองคำได้ย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับหลัก ทำให้หากราคาทองคำมีการรีบาวนด์ขึ้นบ้างอย่างน้อย 20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ ในระยะสั้นเงินบาทยังผันผวนไปตามสกุลเงินฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น และเงินหยวนจีน ซึ่งทั้งสองสกุลเงินต่างเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าพอสมควรในช่วงนี้
สำหรับวันนี้ เราประเมินว่าไฮไลต์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ และอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB)
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟด BOE และ ECB เพื่อช่วยในการประเมินทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า