นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 ก.พ.) ที่ระดับ 35.76 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.79 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.90 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.73-35.87 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงตามการทยอยปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยลดความคาดหวังต่อโอกาสเฟดรีบลดดอกเบี้ย หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่างดัชนี ISM PMI ภาคการบริการออกมาดีกว่าคาด โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมได้หรือไม่ ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ถูกชะลอลงบ้างจากการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่าค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยและลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ในช่วงวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาจไม่ใช่จุดสนใจของผู้เล่นในตลาด ทำให้ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน เพราะหากข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงแย่กว่าคาด อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB มีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ “เร็วกว่า” เฟด ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลง และหนุนการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ได้
และนอกจากปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งยูโรโซน เรามองว่าค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น จากที่ผู้เล่นในตลาดเคยประเมินไว้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยล่าสุดชะลอลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ทั้งนี้ เราประเมินว่าหากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 35.90 บาทต่อดอลลาร์ (ที่เราเคยมองว่าอาจเป็นจุด Peak ในระยะสั้น เมื่อวันที่ 26 มกราคมไปได้) จะเปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.00-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก และจะเป็นการปิดฉากเทรนด์การแข็งค่าต่อเนื่องของเงินบาทนับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ในฝั่งยุโรปเป็นหลัก โดยผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนธันวาคม พร้อมกับจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (CPI Inflation Expectations) ที่สำรวจโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของ ECB ได้
นอกจากนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 3 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ในช่วงนี้ได้