xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 35.84 แนวโน้มผันผวนอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ก.พ.) ที่ระดับ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.81 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.05 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.78-35.94 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้างท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงขึ้น หลังทางการอิสราเอลได้ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงของกลุ่มฮามาส ได้ส่งผลให้ราคาทองคำสามารถรีบาวนด์ขึ้นบ้าง และช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หลังในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราเคยประเมินไว้แถว 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ได้อย่างชัดเจน ท่ามกลางการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ (ที่ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น หลังผู้ว่าฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดคาดได้) รวมถึงแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้

ทั้งนี้ ความกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลางหากสามารถช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นต่อของราคาทองคำได้บ้างจะช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทในระยะนี้ แต่ต้องจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบเช่นกัน เพราะหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่องอาจกดดันเงินบาทผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มพลังงานได้

อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เรามองว่าในเชิงเทคนิคัลจะทำให้เทรนด์การแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่เดือนตุลาคมนั้นเสียไป เปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อสู่โซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้หากมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม จากการประเมิน Valuation ของเงินบาท เรามองว่าในโซน 36.50-37 บาทต่อดอลลาร์ นั้น ค่าเงินบาทถือว่า Undervalued เป็นอย่างมาก (หรือถูกมาก) ทำให้เรารอจังหวะที่จะ Sell on Rally USDTHB หรือเตรียมหาจังหวะเปิดสถานะ Long THB (มองเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า) โดยเราประเมินว่าหากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้อาจติดโซนแนวรับแถว 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับวันนี้ เราประเมินว่าไฮไลต์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ การปรับปรุง Seasonal Factor ของอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมานั้นสูงกว่า หรือ ต่ำกว่าข้อมูลหลังการปรับปรุงได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจปรับสมมติฐานต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเฟดได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อหลังการปรับปรุงข้อมูลดังกล่าว กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลงได้ช้าจากเดิม อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย (หรือเฟดอาจลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุดได้จริง)
กำลังโหลดความคิดเห็น