นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 ก.พ.) ที่ระดับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.20-35.45 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และประเมินกรอบในช่วง 35.00-35.70 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.30-35.54 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน (ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน หรือ Jobless Claims ออกมาแย่กว่าคาด ขณะที่ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตออกมาดีกว่าคาด) อีกทั้งผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลปัญหาธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ ที่รายงานผลประกอบการขาดทุนหนัก ทำให้บอนด์ยิลด์ 10 สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวลดลง กดดันค่าเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนก่อนรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ซึ่งการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวนด์ขึ้นสู่โซนแนวต้านแถว 2,070-2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทเช่นกัน
สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่ห้ามพลาดและควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings %m/m, %y/y) ซึ่งข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ดังกล่าวจะส่งผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงคืนนี้ (ประมาณ 20.30 น.ตามเวลาประเทศไทย) อย่างไรก็ดี เงินบาทมีโอกาสผันผวนแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติม ทั้งนี้ เรายังคงประเมินว่าเงินบาทยังขาดปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าอยู่ ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก (ถ้าหากแข็งค่าผ่านโซนดังกล่าวจะติดแนวรับสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์)
อนึ่ง เราแนะนำว่าผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยหากรายงานข้อมูลการจ้างงานนั้นออกมาดีกว่าคาดอย่างต่อเนื่องจะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย 6 ครั้ง ของเฟด ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสรีบาวนด์ขึ้นได้เร็วและแรง (จะรีบาวนด์ขึ้นมากน้อยเพียงใดขึ้นกับความ “Surprise” ของข้อมูลการจ้างงานว่าจะออกมาดีกว่าคาดมากขนาดไหน) กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาท โดยในกรณีดังกล่าว เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.65-35.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน การชะลอตัวลงต่อเนื่องของการจ้างงานที่อาจออกมาแย่กว่าคาดเล็กน้อยอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยไปจากเดิมมากนัก ส่งผลให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่หลุดโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่หากยอดการจ้างงานลดลงแย่กว่าคาดไปมาก อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ส่งผลให้ เงินบาทเสี่ยงที่จะแข็งค่าหลุดโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำ