นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11 ม.ค.) ที่ระดับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.97 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.10 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และประเมินกรอบ 34.80-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 34.95-35.12 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ หลังราคาทองคำได้ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าไปมากนักหลังเงินดอลลาร์เริ่มชะลอการแข็งค่า เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนวันพฤหัสฯ นี้ ขณะเดียวกัน บรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอจังหวะเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงในการทยอยขายเงินดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ไฮไลตฺสำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอตัวลงตามที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวัง หรือกลับเร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกัน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานยังคงอยู่ใกล้เคียงกับระดับเดิม เรามองว่า ในกรณีนี้ผู้เล่นในตลาดอาจปรับลดความคาดหวังการ “ลดดอกเบี้ย” ของเฟด และมีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดจะ “เลิกเชื่อ” ว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคม ซึ่งอาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การผันผวนอ่อนค่า “เร็วและแรง” ของเงินบาทในช่วงการซื้อขายระหว่างวันก่อนหน้าอาจไม่ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในวันนี้ โดยเฉพาะในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เนื่องจากแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าดังกล่าวนั้นมาจากความกังวลแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งบรรดาผู้เล่นในตลาดได้คลายกังวลประเด็นดังกล่าวไปพอสมควร หลังทาง ธปท. เตรียมจะจัดงานแถลง BOT Policy Briefing ในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม โดยเราคาดว่า ธปท. จะใช้งานแถลงดังกล่าวย้ำจุดยืนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันของไทยนั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสม ตามแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเคลื่อนไหวผันผวนสูงได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงเวลาประมาณ 20.30 น. ตลาดเวลาในประเทศไทย โดยเราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หากอัตราเงินเฟ้อกลับไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือเร่งตัวขึ้น กดดันให้บรรดาผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคม ขณะที่หากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลงตามคาด หรืออาจชะลอลงมากกว่าคาด อาจหนุนให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งเงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ และการจะแข็งค่ามากกว่าระดับดังกล่าวอาจขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำ หลังรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในคืนนี้เช่นกัน