สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล อดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex ประเทศไทย) ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีการทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงนั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชน รวมทั้งกรณีกระทำหรือยินยอมให้กระทำการลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของ Zipmex ประเทศไทย เพื่อลวงบุคคลใดๆ
สืบเนื่องจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการ Zipup/ZipUp+ ซึ่งเป็นบริการที่ให้ผลตอบแทนในรูปแบบโบนัสแก่ลูกค้าผู้ใช้งานกระเป๋าเงินดิจิทัล (Z Wallet) บนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของ Zipmex ประเทศไทย ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไขการให้บริการ ZipUp+ จากเดิมที่อยู่ภายใต้การให้บริการของบริษัทให้อยู่ภายใต้การให้บริการของ Zipmex Asia Pte. Ltd. ประเทศสิงคโปร์ (Zipmex Asia) และ/หรือบริษัทอื่นในเครือที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 รวมทั้งการปิดระบบการฝากถอน Z Wallet ของ Zipmex ประเทศไทย
ก.ล.ต. ตรวจพบว่า สินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่อยู่ใน Z Wallet ถูกโอนออกไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลปลายทางในต่างประเทศ ตั้งแต่ก่อน Zipmex ประเทศไทยจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ Zipmex ประเทศไทยยืนยันแต่อย่างใด จึงพิจารณาได้ว่า Zipmex ประเทศไทย ได้กระทำการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ลูกค้า ทำให้ลูกค้าใช้บริการ Zipup/ZipUp+ โดยโอนสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามายัง Z Wallet เนื่องจากเข้าใจว่าทรัพย์สินของตนยังไม่ได้มีการโอนออกไปเพื่อหาผลประโยชน์ที่อื่น นายเอกลาภ ในฐานะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ประเทศไทย ในขณะนั้น ได้กระทำการอันเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 82 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ)
นอกจากนี้ การที่ Zipmex ประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่นำส่งรายงานข้อมูลทรัพย์สินของลูกค้าตามประกาศของ ก.ล.ต. ได้นำส่งรายงานข้อมูลทรัพย์สินของลูกค้าด้วยข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ ก.ล.ต. ตรวจสอบพบ จึงพิจารณาได้ว่า เข้าข่ายเป็นความผิดกรณีลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
ดังนั้น ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษนายเอกลาภ ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. กล่าวโทษแล้ว