"ไซโน โลจิสติกส์ฯ" ประเมินสถานการณ์การโจมตีเรือบรรทุกขนส่งสินค้าในทะเลแดง ดันค่าระวางเรือไตรมาสแรกปีนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นรอบใหม่ หลังปรับเพิ่มเกือบเท่าตัวภายใน 1 เดือน เตรียมตู้คอนเทนเนอร์เปล่าลดความเสี่ยงการขาดแคลนหากเหตุการณ์ยืดเยื้อ มั่นใจปีนี้มีปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 53,000 ตู้
นายนันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SINO เปิดเผยว่า ค่าระวางเรือในช่วงไตรมาส 1/2567 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงกลางเดือนธันวาคม 2566 หลังสถานการณ์การโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดงที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ส่งผลให้ดัชนีค่าระวางเรือ Shanghai Containerized Freight Index ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,206 จุด (12 มกราคม 2567) หรือสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา (15 ธันวาคม 2566) อยู่ที่ประมาณ 1,100 จุด โดยอัตราค่าบริการขนส่งสินค้าทางทะเลในเส้นทางไทย-สหรัฐฯ สูงขึ้นถึง 5,000-6,000 เหรียญสหรัฐ จากเดิมอยู่ที่ 2,500-3,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ปัจจัยดังกล่าวยังก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากผู้ประกอบการสายเดินเรือต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าสู่ตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ระยะเวลาเดินทางและต้นทุนการเดินเรือเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทพร้อมนำศักยภาพการดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอย่างครบวงจร (Integrated Logistics Service Provider) ทั้งทางทะเล ทางอากาศ และทางบก โดยเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีความชำนาญในการให้บริการบนเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล ที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือในเส้นทางไทย-สหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 1 ของผู้ให้บริการสัญชาติไทยและเป็นอันดับ 4 ของผู้ให้บริการของโลก รวมถึงการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์อย่างครบวงจร เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เนื่องจาก SINO มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีการทำสัญญาการให้บริการกับผู้ประกอบการสายเดินเรือ จึงมีความสามารถจัดหาพื้นที่ระวางเรือเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงเตรียมนำตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทเข้ามาให้บริการเพิ่มเติมแก่ลูกค้า หากเกิดกรณีตู้เปล่าคอนเทนเนอร์ขาดแคลน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งสินค้าได้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด
“ค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นรอบนี้ไม่กระทบต่อความต้องการส่งออกสินค้าของลูกค้าให้ลดลงอย่างมีนัย เนื่องจากเราได้นำเสนอโซลูชันการให้บริการโลจิสติกส์ที่ครบวงจร เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้ลูกค้าได้เป็นอย่างดี ขณะที่ SINO ได้รับประโยชน์เชิงบวกจากค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อรายได้มากยิ่งขึ้น” นายนันท์มนัส กล่าว
ส่วนแนวโน้มปริมาณการให้บริการขนส่งสินค้าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย จากปัจจัยบวกของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดี ส่งผลให้มีการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงแผนกลยุทธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่ SINO ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการขนส่งสินค้าทางทะเลให้แก่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่ต้องการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐอเมริกา บริษัทจึงตั้งเป้าหมายในปี 2567 ว่าจะมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 53,000 ตู้ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 15% จากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 46,000 ตู้