สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นในตลาดทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566
แต่การเพิ่มความเข้มข้นมาตรการกำกับดูแลในหลายด้าน จะกำราบปราบปรามแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นที่ทำร้ายนักลงทุนมาตลอด 48 ปีได้ขนาดไหน
โครงสร้าง ก.ล.ต.ที่ปรับเปลี่ยนใหม่สำคัญๆ ประกอบด้วย การจัดกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนและการบังคับใช้กฎหมายไว้ด้วยกัน เพื่อเชื่อมประสานกันได้อย่างราบรื่นตั้งแต่การระดมทุน และติดตามดูแลภายหลังการระดมทุน
การเพิ่มสายงานด้านการบังคับใช้กฎหมายอีก 1 สายงาน เพื่อรองรับปริมาณงานที่ต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และจะนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
การแยกหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนออกมาให้ชัดเจน โดยตั้งเป็น “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส” เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับและติดตามเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงบุคลากรของ ก.ล.ต. ด้วย
การปรับปรุงขอบเขตงานด้านคดี โดยโอนงานคดีปกครอง เพื่อรวมศูนย์งานด้านคดีไว้ที่เดียวกัน และรวมศูนย์งานด้านกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit) ไว้ที่ส่วนงานเดียว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการมองภาพรวมทั้งระบบ
นอกจากนั้น ยังมีการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานภายในองค์กร
ตั้งแต่กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STARK ซึ่งตกแต่งบัญชี ตบตานักลงทุนมาหลายปี สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ตามด้วยปัญหาการ SHORT SELL การทำ NAKED SHORT และโปรแกรมเทรด หรือ ROBOT ซึ่งถูกโจมตีว่า เป็นต้นตอของหุ้นตก ทำให้ ก.ล.ต.ต้องตกเป็นจำเลยของสังคม
ถูกแรงกดดันจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และกระแสเรียกร้องจากนักลงทุนให้ผลักดันมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวด รวดเร็ว เด็ดขาด เพื่อปกป้องนักลงทุนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งจากผู้บริหารจดทะเบียนขี้โกง หรือแม้แต่ ROBOT
35 ปีนับจากจัดตั้ง ก.ล.ต.ไม่เคยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อวิกฤตบริษัทจดทะเบียน ทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย โดยเฉพาะกรณีหุ้น STARK และการทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เป็นไปในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย ทั้งที่ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยตรง
ก.ล.ต.เพิ่งสำแดงอำนาจเด็ดขาดสั่งให้ตลาดหลักทรัพย์ทบทวนเงื่อนไขการทำ SHORT SELL หรือการยืมหุ้นมาขาย และโปรแกรมเทรด หรือ ROBOT ให้เหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเท่าเทียมกับนักลงทุน
ประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งถูกกระทำจากพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ มาตลอดเวลาหลายสิบปี และไม่ได้รับการเหลียวแลจาก ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดหุ้นและมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการปกป้องนักลงทุนโดยตรง
ปัญหาต่างๆ ในตลาดหุ้นถูกหมักหมมมานาน ขณะที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเหิมเกริมในการกระทำความผิด โดยนอกจากไม่คำนึงถึงความเสียหายของประชาชนผู้ลงทุนแล้ว ยังไม่เกรงกลัวกฎหมาย และมอง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ เป็นเพียงเสือกระดาษที่หลับใหลในการทำหน้าที่
แต่ ก.ล.ต.เริ่มปฏิวัติตัวเองแล้ว พยายามเปลี่ยนบทบาทเพื่อเป็นองค์กรที่มีความตื่นตัว มีการทำงานที่เด็ดขาด และมีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะต้องรอดูว่าจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้หรือไม่
ก.ล.ต.ตื่นขึ้นแล้ว เพื่อทำหน้าที่องค์กรกำกับดูแลตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องคุ้มครองและสร้างความเท่าเทียมให้ประชาชนผู้ลงทุน
จากสายพิราบที่ทำงานกันอย่างราบเรียบ จนประชาชนผู้ลงทุนล้มตายกันเกือบราบคาบ ก.ล.ต.กำลังปรับตัวสู่สายเหยี่ยวที่จะบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น
แต่จะกำราบปราบปรามแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นได้ขนาดไหน เวลาเท่านั้นจะเป็นคำตอบของ ก.ล.ต.ในยุคปฏิวัติใหม่