ผลงานกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาสนี้เห็นสัญญาณฟื้นตัวคาดต่อเนื่องไปถึงปี 67 แม้สินค้าบางอย่างอาจชะลอตามภาวะอุตสาหกรรม ส่งผลต่อผู้ผลิตที่มีดีมานด์แตกต่าง อีกทั้งค่าเงินผันผวน กระทบตัวเลขกำไร 4 บจ.ใหญ่กลุ่มนี้ โบรกฯ มองต้นทุนวัตถุดิบต่ำลง ค่าไฟปรับลด ดึงค่าใช้จ่ายต่ำ หนุนผลงานสดใสในระยะยาว เชื่อมีถือไว้ในพอร์ตไม่เสียหาย
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์มองว่าหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รับผลการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นของสหรัฐต่อบริษัทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ในจีน ซึ่งกลุ่มผู้ขายสินค้าไอทีจะได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง อย่างไรก็ดี ปีนี้จากค่าเงินผันผวนหนัก ทำให้มีส่วนต่างระหว่างดอลลาร์สหรัฐต่อบาท ขณะต้นทุนปรับลด อีกทั้งความต้องการสินค้าแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนั้นๆ ผลการดำเนินงานจึงไม่สอดคล้องกัน
ดังนั้น จากผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัทจดทะเบียนทยอยแจ้งออกมาแล้ว และในที่นี้นำเสนอผลงานของ บจ. 4 แห่ง ซึ่งงบการเงินแตกต่างไป คือ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI ,บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ,บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA และ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน)หรือ HANA (ดูตารางประกอบ)
HANA กำไรพุ่ง ส่วนต่างค่าเงินหนุน
บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน)หรือ HANA แจ้งผลงานไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 733.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 416.63 ล้านบาท เนื่องจากงวดนี้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เทียบไตรมาส 3 ปี 65 ที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน โดย กลุ่ม HANA มีรายได้จากการขายลดลง 13 % เมื่อเทียบปีต่อปี โดยมีรายได้จากการขาย 6,555 ล้านบาท จาก 7,545 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 65 รายได้จากการขายในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ไตรมาส 3 ปีนี้ลดลง 10% อยู่ที่ 186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3 ปี 65 กำไรจากการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ลดลง 19% อยู่ที่ 698 ล้านบาท จาก 864 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 65
ทั้งนี้ HANA มีรายได้จากการขายของกลุ่มในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบปีต่อปีลดลง 10% หรือ186 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 3 ปี 65 อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไตรมาส 3 ปีนี้แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ยอดขายในรูปสกลุเงินบาทลดลง 13% แม้ทุกเนื่องจากหน่วยงานมียอดขายลดลง แต่สวนทางกับส่วนหน่วยงานฮานา เทคโนโลยี (HTI) ผลิตอุปกรณ์ไมโครดิสเพลย์และ RFID ในมลรัฐโอไฮโอ มียอดขายเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน ทำให้บริษัทจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.50 บาท และกำหนดจ่าย 13 ธ.ค. 66
บล.เคจีไอ แนะนำ “ ถือ ” หุ้น HANA ให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 66 จาก 56.00 บาท เหลือ 47.00 บาท พร้อมให้จับตาดูการฟื้นตัวของยอดขายไตรมาส 4 ปีนี้และไตรมาสแรกปี 67 ซึ่งช่วยยืนยันโมเมนตัมการฟื้นตัวของการตุนสต๊อก (restock) แม้สต๊อก IC จะอยู่ในระดับต่ำแล้ว คาดอุปสงค์ยังไม่ฟื้นไปจนถึงไตรมาส 2 ปี 67 เพราะเศรษฐกิจจีนอ่อนแอและความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่อาจลดลงจากภาวะดอกเบี้ยสูง ขณะอุปสงค์จากกลุ่มย่อยยานยนต์ อุตสาหกรรม และเวชภัณฑ์น่าจะยังแข็งแกร่ง ส่วนอัตราดอกเบี้ยสูงอาจจะส่งผลกระทบเป็นปัจจัยต้องติดตาม
ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจ Powermaster (PMS) ไตรมาส 3 ลดลงพราะอุปสงค์ของอุปกรณ์ silicon แผ่วตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ ทำให้บริษัททำการปรับเป้ายอดขายปี 67 และเลื่อนกำหนดถึงจุดคุ้มทุน EBITDA ออกไปเป็นไตรมาส 2 ปี 67 ทำให้ บล.เคจีไอ ทบทวนสมมติฐานทั้งจากยอดขายกำไรขั้นต้นและอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมปรับเพิ่มประมาณการกำไรจากธุรกิจหลักปีนี้ขึ้นอีก 20% และปี 67 อีก 8% ซึ่งคงให้ premium เพื่อสะท้อนถึงวัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรมและการตุนสต๊อก
บล.พาย แนะนำ " ถือ" หุ้น HANA ให้ ราคาเป้าหมาย 41.48 บาท/หุ้น มองว่าได้ปรับลดมูลค่าพื้นฐานลง 13% เป็น 41.48 บาท สะท้อนถึงผลลดทอนมูลค่าหุ้น (dilution) 10% จากการเสนอขายหุ้นแก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ในเดือน ต.ค. 66 แต่เพิ่มคำแนะนำจาก "ขาย" เป็น "ถือ" เพราะราคาหุ้นที่ลดลงช่วงหลัง กำไรปกติไตรมาส 3 ปีนี้ อยู่ที่ 674 ล้านบาท ลดลง 20% จากปีก่อน และ 10% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากยอดขายลดลงและค่าใช้จ่ายการขายและบริหารครั้งเดียว
แม้คาดการเติบโตไตรมาส 4 ปีนี้ถึงครึ่งแรกปี 67 จะทรงตัว เพราะแรงกดดันด้านอุปสงค์จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่ชะลอตัว ยังมองบวกต่อ ภาพรวมของ PMS เพราะ SiC ที่มีความสำคัญมากขึ้นในตลาด EV คาดกำไรปกติปี 66-67 อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบปีก่อนและเพิ่มขึ้น8% หรือแตะ 2.4 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะ HANA ประกาศ จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 0.50 บาท
เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์พุ่ง หนุนผลงาน DELTA พุ่ง
บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA งวดนี้กำไร5,428.66 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 4,110 ล้านบาท หรือ 33.7 % ขณะที่มียอดขาย 40,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.2 % จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์รักษาระดับการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยกลุ่มโซลูชั่น สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่เติบโตสูงกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ดีซี เพาเวอร์และเพาเวอร์ซัพพลายสำหรับระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม ด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย รวมถึงศูนย์ข้อมูล Data Center มียอดขายทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขยายตัวตามแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงในภูมิภาคต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ชะลอตัวสำหรับสินค้าบางกลุ่ม เนื่องจากดีมานด์อ่อนตัวในตลาดยุโรป
ขณะกำไรขั้นต้นไตรมาสนี้ 9,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขับเคลื่อนโดยการเติบโตของยอดขายพร้อมการบริหารต้นทุนการผลิตของกลุ่มโซลูชั่นสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นภายใต้กลุ่มธุรกิจพาวเวอร์อิเล็คทรอนิกส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตดี และสถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบคาดจะทยอยคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริหารจัดการต้นทุนและวัตถุดิบเพื่อปรับปรุงอัตรากำไรให้ดีขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น ตามยอดขายและการวิจัยและพัฒนา
สำหรับค่าใช้จ่ายที่ลดลงเป็นผลจากประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายพร้อมผลักดันยอดขายให้เติบโต ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานไตรมาสนี้มี 5,047 ล้านบาท หรือ 12.5 % เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันในปีก่อน จากการทำกำไรที่ดีขึ้นของยอดขายกลุ่มสินค้าที่เติบโตสูง
บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ยังคงประมาณการกำไรปกติ DELTA ปี 66 ไว้ที่ 17,584 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.7% ส่วนปี 67 คาดจะมีกำไรปกติที่ 21,814 ล้านบาท เติบโต 24% มองว่า DELTA มีผลประกอบการที่เติบโตดี และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง แต่ราคาหุ้นปัจจุบันเต็มมูลค่าแล้ว และ Valuation ถือว่าไม่ถูกแล้วจึงแนะนำ ขาย โดยให้ราคาเป้าหมายของปี 2567 ที่ 70 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ คาดแนวโน้มไตรมาส 4 DELTA อาจอ่อนตัวลงตามฤดูกาล ให้มุมมองบวกต่อการเติบโตระยะกลางถึงยาว โดยให้เป้ารายได้ปี 67 เบื้องต้นจะโตไม่น้อยกว่าอัตราสองหลักราว 15-20% ยังถือเป็นการเติบโตดีต่อเนื่องจากปี 66 ที่คาดโตราว 23.5% โดยมีปัจจัยหนุนยังมาจาก EV Power ที่บริษัทขยายกำลังการผลิตกว่าเท่าตัวในปี 66 และอีกราว 40-50% ในปี 67 เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่แข็งแกร่ง ขณะคาดกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ และ Fan & Thermal Management น่าจะเติบโตในระดับปานกลาง 5-10% แต่บริษัทยังระมัดระวังต่อภาวะเศรษฐกิจโลกเพราะอาจกระทบต่อ Demand มากกว่าคาด
KCE ค่าเงินผันผวนฉุดกำไร ระยะต่อไปฟื้นตัวชัด
บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE มีกำไร 519.53 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 655.24 ล้านบาท หรือลดลง 38.1% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าแต่ลดลง 20.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะอัตรากำไรสุทธิต่อยอดขายของไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 12.0% เทียบกับอัตรา 9.7 % และ 14.1% ของอัตรากำไรสุทธิไตรมาสก่อนและปีก่อนตามลำดับ โดยไตรมาสนี้มีกำไรจากการดำเนินงาน 470.6 ล้านบาท (ไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 48.9 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 47.0% แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.5%
โดยสรุป ผลประกอบการไตรมาส 3 นี้ กลุ่มบริษัทมีรายได้และกำไรดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อนเพราะคำสั่งซื้อที่เริ่มดีขึ้น กอปรกับผลกระทบเชิงบวกจากการอ่อนค่าของเงินบาทและต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง ส่งผลให้กำไรสุทธิพื้นฐาน 0.44 บาท ซึ่งไตรมาสนี้กลุ่มบริษัทมียอดขาย 4,326.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 11% แต่ลดลง 6.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 4,633.9 ล้านบาท ขณะยอดขายในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.86 % จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 3.27 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐงวดนี้มีผลทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 59.15 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 103.02 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันในปีก่อน
ทั้งนี้ ปริมาณการส่งสินค้า PCBs เพิ่มขึ้น 11.77% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 5.65% ตํ่ากว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาสนี้ความต้องการสินค้าของลูกค้าดีขึ้น เพราะเริ่มทยอยสั่งสินค้าเข้าสต๊อกมากขึ้น ขณะความต้องการสินค้าของลูกค้ามีแนวโน้มดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลก แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความผันผวนของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า มีผลบวกต่อรายได้ ส่วนต้นทุนวัตถุดิบต่ำลงรวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่ำลง
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ปรับลดคำแนะนำหุ้น KCE เป็น "ขาย" และปรับลดราคาเหมาะสมในปี 67 มาที่ 47.50 บาท อิง PER 28.7x หลังจากบริษัทแจ้งกำไรQ3 ปีนี้ที่ 471 ล้านบาท โดยกำไรฟื้นตัว มาจากรายได้ที่ฟื้นตัว ส่วนกำไรที่ลดลงเมื่อเทียบปีก่อนเพราะอัตรากำไรขั้นต้นที่ยังไม่กลับไปที่ระดับไตรมาส 3ปี65 คาดไตรมาส4 กำไรยังรักษาระดับได้จาก GPM ที่ดีขึ้น เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ต้นทุนทองแดงและค่าไฟฟ้าปรับลดลง
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า หุ้น KCE น่าสนใจที่สุดในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากการเห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 66 ตามช่วง High season ของธุรกิจ และต่อเนื่องไปยังปี 67 ตามดีมานด์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถยนต์ที่ฟื้นตัวจากการลดสินค้าคงคลัง ขณะValuation ยังมีส่วนลดเมื่อเทียบกับ PE mean ในอดีต มองว่า KCE ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเป็นหุ้นที่คาดผลประกอบการดีต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 ปี 66
SVI วูบ ยอดขายตก ศก.โลกชะลอ
บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI งวดนี้มีกำไรสุทธิ 275 ล้านบาท ขณะปีก่อนมีกำไรสุทธิ 598.29 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงความต้องการสินค้าจากลูกค้าเดิมใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทยังคงลดภาระหนี้อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาฐานะการเงินให้แข็งแกร่ง เพื่อการขยายธุรกิจรับเศรษฐกิจโลกฟื้น
ทั้งนี้ SVI มียอดขายงวด 9 เดือน 17,405 ล้านบาท หรือ 506.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1,285 ล้านบาท หรือ 6.9% เทียบปีก่อน เพราะการชะลอตัวของตลาดโลก ส่งผลให้ยอดขายลดลงไปจากประมาณการเหลือ 5,565 ล้านบาท ลดลง 2.3% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อนลดลง 20.7% ซึ่งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและระบบเครือข่ายไร้สายสำหรับการสื่อสาร ระบบควบคุมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นกลุ่มสำคัญในการสร้างยอดขายไตรมาสนี้
บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากงบการเงินรวมสำหรับงวด 9 เดือนปีนี้ 1,411 ล้านบาท หรือ 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรขั้นต้นไตรมาสนี้ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน และลดลง 30% เมื่อเทียบปีก่อน เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในไตรมาสแรกปี 66 ส่วนกำไรขั้นต้นรักษาระดับได้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 8.7%
บล.ทิสโก้ แนะนำ "ซื้อ" หุ้น SVI ให้ ราคาเป้าหมาย 8.40 บาท/หุ้น เพราะรายได้ไม่น่าตื่นเต้น แต่การประเมินราคาถูกทำให้SVI น่าซื้อ หลังจาก SVI รายงานกำไรสุทธิไตรมาสนี้ 275 ล้านบาท ลดลง 54% จากปีก่อนและ 2% เทียบปีก่อน เมื่อหักกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนออกไป 32 ล้านบาท กำไรหลักก็เป็นไปตามคาดไว้ที่ 242 ล้านบาท แต่ต่ำกว่าความเห็นของ Bloomberg consensus ถึง 18% แม้รายได้จะต่ำกว่าประมาณการของ บล.ทิสโก้ แต่อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ช่วยชดเชยจุดอ่อนได้ เนื่องจากกำไร 9 เดือนปีนี้คิดเป็น 72% ของประมาณการทั้งปีจึงคงประมาณการปี 66 ไว้ พร้อมอัปเกรดคำแนะนำเป็น “ซื้อ ” เพราะปรับฐานราคาหุ้นล่าสุดทำให้มี upside ถึง 17%
และนี่คือผลประกอบการของ 4 บริษัทใหญ่ของกลุ่มนี้ และจากตัวเลขงบการเงินงวด 9 เดือนแรกปีนี้เมื่อเทียบกับทั้งปี 65 ประเมินว่าอาจต่ำกว่า เพราะเหลืออีกเพียงไตรมาสเดียวที่จะสร้างผลงานให้เห็น ต้องมาลุ้นกันว่า บจ..ใดที่จะทำผลงานได้เท่าหรือมากกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาวะตลาดหุ้นผันผวนมากมีหลายปัจจัยบ้างบวกลบ ส่งผลต่อราคาหุ้น ล่าสุดเมื่อ 20 พ.ย. พบว่า 3 หุ้นใหญ่กลุ่มนี้ถูกเทขายออกมา ทั้ง HANA ปิดที่ 45.25บาท ลดลง 3.00บาท หรือ 6.22% ส่วน KCE ปิดที่ 51.75บาท ลดลง 1.25บาท หรือ 2.36% และ DELTA ปิดที่ 83.00บาท ลดลง 1.25บาท หรือ 1.48%