xs
xsm
sm
md
lg

SCB EIC ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 โตต่ำกว่าคาด ห่วงฉุด GDP ทั้งปีร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ระบุเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2023 โตต่ำต่อเนื่อง ต่ำกว่าคาดการณ์มาก โดยขยายตัวเพียง 1.5%YOY เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ 0.8%QOQ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำลงต่อเนื่องนับจากต้นปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในผลสำรวจของ Bloomberg ที่ 2.2%YOY หรือ 1.3%QOQ อยู่มาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่ายในไตรมาสนี้มีแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของบริการท่องเที่ยว ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งความต้องการท่องเที่ยวในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ด้านการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลง ขณะที่การส่งออกสุทธิขยายตัวดีจากการนำเข้าสินค้าที่หดตัวแรง ด้านการใช้จ่ายภาครัฐเติบโตไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานที่ยังมีการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อต่อสู้วิกฤตโควิด ด้านการลงทุนในประเทศขยายตัวจากการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง

สำหรับ GDP ด้านการผลิต (Production approach) ภาคบริการขยายตัวดี โดยเฉพาะในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ภาคเกษตรเติบโตชะลอลงจากปัญหาสภาพอากาศแล้ง อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออก

ส่วนไตรมาส 4 SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้สูงกว่า 3 ไตรมาสแรก ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มเร่งตัวอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสนี้หลังเริ่มเข้าสู่ช่วง High season โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียและรัสเซีย อีกทั้งการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวและจะกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 จากราคาส่งออกที่ปรับสูงขึ้นในสินค้าบางกลุ่ม เช่น สินค้าเกษตร และจากปัจจัยฐานต่ำ อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดการณ์ว่า GDP ปีนี้มีแนวโน้มปรับลดลงจากประมาณการเดิมตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

หากมองไปในปี 2024 ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2024 จะเติบโตเร่งขึ้นได้ แต่ทิศทางการฟื้นตัวเปราะบางบนความไม่แน่นอนรอบด้าน ปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน การส่งออกฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) แรงส่งภาครัฐจะมีไม่มากในช่วงครึ่งแรกของปีเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปีจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2024

ด้านความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยปี 2024 มาจาก (1) สงครามอิสราเอล-ฮามาส แม้ในกรณีฐานจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก แต่หากสถานการณ์ลุกลามรุนแรง เศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่ปรับสูงขึ้น (2) เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง อาจกระทบการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน และ (3) วิกฤตภัยแล้งในหลายพื้นที่อาจเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น