นางปัทมา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ บมจ.นีโอ คอร์ปอเรท (NEO) คาดว่าแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) จะชัดเจนในปี 67 หลังจากยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 78,000,000 หุ้น โดยมี บล.ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO
บริษัทมีแผนจะปรับปรุงและขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนและกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังการผลิตรวมทั้งหมดอยู่ที่ 229,296 ตันต่อปี (ณ วันที่ 30 มิ.ย.66) เพิ่มขึ้น 20.86% ต่อปี จากเดิมที่ 142,800 ตันต่อปี ในปี 63 อีกทั้งบริษัทมีการลงทุนในอาคารและระบบคลังจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval Systems : ASRS) เพื่อรองรับแผนการเติบโตในอนาคต โดยปัจจุบันสามารถจัดเก็บสินค้าได้ 35,000 พาเลท และกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารและระบบคลังสินค้าอัตโนมัติรองรับการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปประมาณ 10,700 พาเลท โดยคาดว่าสามารถเปิดดำเนินการได้ไตรมาส 4/66
นางปัทมา กล่าวว่า อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคในประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย อีกทั้งปัจจัยการก้าวเข้าสู่สังคมเมืองที่ขยายตัวและเกิดวิถีชีวิตใหม่ด้านสุขอนามัย ส่งผลให้อัตราการอุปโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยผลประกอบการของบริษัทเติบโตตัวเลขสองหลักต่อเนื่องทุกปี ซึ่งสูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมที่เติบโตตัวเลขหลักเดียว
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งผลให้กำลังซื้อเริ่มกลับมา อีกทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจะช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทด้วย ทั้งนี้ ระบบพื้นฐานของประเทศไทยค่อนข้างมั่นคง กำลังซื้อสินค้าอุปโภคจึงไม่เป็นอุปสรรคและยังมีการใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา ขณะที่อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัว สะท้อนจากผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกที่มีกำไรต่อเนื่อง
ขณะที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ส่งออกสินค้าไปประเทศต่างๆ กว่า 16 ประเทศ โดยมีกลุ่มหลัก ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศที่ 13-15% และหวังว่าอนาคตรายได้จากต่างประเทศจะเติบโตไปที่ 15-20%
บริษัทพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องกว่า 100 รายการต่อปี โดยในปี 65 บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 412 รายการ (SKUs) ซึ่งในแต่ละปีจะมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และออกสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ โดยใช้งบ R&D อย่างน้อย 5% ของรายได้
นายสุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEO เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้ทำการตลาด ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำของคนไทยที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์โดดเด่น หลากหลายครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ด้วยราคาที่เหมาะสม พร้อมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดสินค้าอุปโภคมากว่า 34 ปี โดยมีวิสัยทัศน์ "มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท Fast-moving consumer goods (FMCG) แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้บริโภค" ส่งมอบนวัตกรรมและผลิตภัณฑืใหม่ที่ช่วยดูแลชีวิตประจำวันของทุนคนให้ได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขั้น เพื่อเป็นการยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น (Uplift Essentials for Everyday Betterment)
ปัจจุบัน NEO มีสินค้าอุปโภค 3 กลุ่มหลัก รวม 8 แบรนด์ ประกอบด้วย 1.ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) ประกอบด้วย 3 แบรนด์ คือ ไฟน์ไลน์ (Fineline) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม และผลิตภัณฑ์รีดผ้าเรียบ (2) สมาร์ท (Smart) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม สูตรแอนตี้แบคทีเรีย และ (3) โทมิ (Tomi) เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ
2.ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) ประกอบด้วย 4 แบรนด์ ได้แก่ บีไนซ์ (BeNice) เช่น ครีมอาบน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ทรอส (TROS) เช่น โคโลญ และโรลออนสำหรับผู้ชาย เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense) เช่น แป้ง โคโลญ และโรลออนสำหรับผู้หญิง และวีไวต์ (Vivite) เช่น โรลออนสำหรับผู้หญิง
3.ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products) แบรนด์ดีนี่ (D-nee) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเด็ก ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มเด็ก และผลิตภัณฑ์อาบน้ำและสระผมเด็ก เป็นต้น
บริษัทวางกลยุทธ์การทำตลาดมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ สร้างสรรค์คุณสมบัติที่มีเอกลักษณ์ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกช่วงวัยและทุกไลฟ์สไตล์ อีกทั้งมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Product Portfolio) ที่หลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการ ผ่านการสื่อสารทางการตลาดและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายหลากหลายเหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ทำให้สามารถขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ (Mass Market) ไปยังกลุ่มพรีเมียมแมส (Premium Mass) และกลุ่มพรีเมียม (Premium) ได้ในหลายแบรนด์ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งรักษาลูกค้าปัจจุบันให้กลับมาซื้อสินค้าซ้ำได้อย่างต่อเนื่อง (Brand Loyalty)
"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา NEO ส่งมอบนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายแบรนด์ เช่น การออกผลิตภัณฑ์แบรนด์ดีนี่ (D-nee) ในปี 2540 โดยมีจุดเด่นในด้านคุณภาพที่ดี อ่อนโยน และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก ด้วยนวัตกรรมที่โดดเด่นส่งผลให้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ภายในปีแรก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ในปี 2565
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (63-65) บริษัทได้มีการนำเสนอนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพทำความสะอาดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 การออกผลิตภัณฑ์ที่เน้นสารสกัดจากธรรมชาติและมีความอ่อนโยน รวมถึงการขยายสินค้าไปยังกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมแมส (Premium Mass) และระดับพรีเมียม (Premium) ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย" นายสุทธิเดช กล่าว