xs
xsm
sm
md
lg

TU กำไรหดเหลือ 1.2 พันล้าน ขาดทุนค่าเงินและไดรูทหุ้นที่ถือ ITC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป งวดนี้กำไรหดเหลือ 1,205.92 ล้านบาท ลดลง 52.3% จากงวดนี้ปีก่อนทำไว้ 2,530.48 ล้านบาท เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 268 ล้านบาท และผลกระทบจาก Dilution effect ของ "ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น" 324 ล้านบาท ขณะมียอดขาย 33,915 ล้านบาท ลดลง 0.9% จากไตรมาส 2 และลดลง 16.8% จากยอดขายที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะปริมาณการขายลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท อีกทั้งราคาขายเฉลี่ยลดลง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU แจ้งผลงานไตรมาส 3 ปีนี้พบว่ามีกำไรสุทธิ 1,205.92 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 2,530.48 ล้านบาท หรือลดลง 52.3% เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 268 ล้านบาท (เทียบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 792 ล้านบาทในไตรมาส 3/2565) และผลกระทบจาก Dilution effect ของบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ที่ 324 ล้านบาท ซึ่งถูกชดเชยบางส่วนด้วยเครดิตภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมลดลง อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน จากกำไรขั้นต้นและกำไรจากการดำเนินงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

โดยบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 3.6% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในไตรมาส 3 ปีนี้ยังแข็งแกร่งที่ระดับ 6,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% เพราะราคาวัตถุดิบหลักปรับตัวลดลง อีกทั้งการปรับรายการสินค้าโดยเน้นสินค้าที่ทำกำไร รวมถึงแผนและมาตรการต่างๆ ในการเพิ่มระดับความสามารถในการทำกำไรที่บริษัทได้เริ่มใช้ประสบความสำเร็จดี

โดยยอดขายในไตรมาสนี้อยู่ที่ 33,915 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 0.9% จากไตรมาส 2 และลดลง 16.8% จากยอดขายที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณการขายลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทรายได้จากค้าส่งที่ลดลงและราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า "TU ยังคงรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในไตรมาส 3 นี้เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่เราทำธุรกิจมา เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าแผนและมาตรการในการเพิ่มความสามารถในการทำกำไรที่เรานำมาใช้ในทุกธุรกิจประสบผลสำเร็จได้ผลเป็นอย่างดี บริษัทยังคงมุ่งมั่นในกลยุทธ์เสริมสร้างความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาพรวมธุรกิจไทยยูเนี่ยนยังคงแข็งแกร่ง โดยจะเห็นได้จากการที่ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ A+" นายธีรพงศ์ กล่าว

ในไตรมาส 3 ปีนี้ ยอดขายสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นอยู่ที่ 11,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 0.9% และมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 12.9% เพิ่มขึ้นจาก 9.6% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้ดีประกอบกับกลยุทธ์ของบริษัทในการปรับขนาดกลุ่มธุรกิจและมุ่งเน้นไปที่สินค้าที่ทำกำไร สำหรับธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่นๆ ยังมีอัตรากำไรขั้นต้นแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 28.9% ด้วยยอดขาย 2,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 19.4% โดยบริษัทเน้นกลยุทธ์การขายสินค้าที่ทำกำไรได้มากกว่า

ขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 3,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1% และมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 19.4% จากตลาดในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้ากลับเข้ามาและราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องมียอดขายในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 15,851 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังคงมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 20.4%

โดยไตรมาส 3 บริษัทได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากกลยุทธ์เดียวกันที่ประกาศครั้งแรกเมื่อปี 59 ขยายขอบเขตการทำงานสู่พันธกิจความยั่งยืนทั้งสิ้น 11 ข้อ ที่ครอบคลุมการดูแลทั้งผู้คนและโลก สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในการ "ดูแลสุขภาพที่ดีให้ผู้คนไปพร้อมกับทรัพยากรในท้องทะเล" ซึ่งการประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืนครั้งนี้ยังมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลง 42 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 73 และเป็นศูนย์ในปี 93

"ท่ามกลางความท้าทายและไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าการมุ่งมั่นทำงานในด้านความยั่งยืนและนวัตกรรมจะเป็นกำลังสำคัญของธุรกิจเราในการก้าวไปข้างหน้า สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจให้เติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น"


กำลังโหลดความคิดเห็น