xs
xsm
sm
md
lg

สคฝ.เผยข้อมูลเงินฝาก ณ สิ้น ส.ค.ปี 66 หดตัว 3.37% ระบุลดลงจากทุกกลุ่ม ชี้ค่าครองชีพพุ่ง รายได้ไม่ขยับทำกระเป๋าแฟบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ Deposit Protection Agency (DPA) รายงานสถิติเงินฝาก ณ สิ้นเดือน ส.ค.66 พบว่าจำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวน 93.46 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37% ขณะที่จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านล้านบาท ลดลง 1.32% ซึ่งเป็นการลดลงในทุกกลุ่ม โดยเกิดจากปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่ขยับ พร้อมวางเป้าหมายปี 2567 เร่งเสริมความรู้กันภัยไซเบอร์ หนุนการออม พร้อมรับเกณฑ์ดูแล Virtual Bank

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)
กล่าวว่า “จากสถิติเงินฝากตั้งแต่ปี 2562-ส.ค.2566  พบว่า ถึงแม้จำนวนผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาทจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในเดือน ส.ค.2566 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.45% แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่ปี 2565 -0.63% และในเดือน ส.ค.2566 -3.61% ในขณะที่ผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีการปรับตัวลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากนักจึงต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้ หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ที่เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้ ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูง และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ของโลก ต่างกำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุน

โดยจากรายงานข้อมูลสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 รวม 32 สถาบันการเงิน พบว่ามีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 212,688 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.32 สืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบกับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนสูง โดยคาดว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาพรวมสินเชื่อที่ยังเติบโตในกรอบต่ำ

ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 3.37 โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนด 1 ล้านบาท ยังคงสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้เต็มจำนวน ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.09 ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ

"โดยสรุปแล้ว ณ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 จำนวนเงินฝากลดลงซึ่งถือว่าเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี ซึ่งสาเหตุมาจากการโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า อย่าง ทองคำ หรือบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 5% แต่จะมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการไหลลงของคนมีฐานะคือจำนวนผู้มีเงินฝากสูงกว่า 50,000 บาทลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นขณะที่รายได้เท่าเดิมทำให้ต้องดึงเงินออมออกมาใช้ รวมถึงการเติบโตของเงินฝากจะสอดคล้องกับจีดีพี ซึ่งจีดีพีไทยช่วงนี้อยู่ในระดับไม่สูงเช่นกัน ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่เพิ่มขึ้นนั้น เปฌนเรื่องปกติที่สะท้อนว่ามีการเข้าถึงระบบธนาคารพาณิชย์มากขึ้น แต่จำนวนเงินในกระเป๋าลดลง"

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไปนั้นมี 3 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยที่จะยังต้องติดตามดูต่อเนื่อง แม้ขณะนี้เงินเฟ้อจะชะลอชั่วคราวแต่ยังไม่แน่ว่าจะสิ้นสุด รวมถึงสถานการณ์สงครามที่รุนแรง-ลุกลาม และการฟื้นตัวของรายได้ เศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อสถานการณ์การออมของผู้ออม ซึ่งจากการประมาณการจีดีพีในปีนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหวังว่าจะทำให้ปริมาณเงินฝากที่ลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เป็นลำดับ

ทั้งนี้ จากการติดตามสถิติเงินฝากและปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ทำให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (พ.ศ.2566-2570) ในหลายเรื่อง รวมถึงการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้เกิดความเข้าใจถึงการบริหารจัดการและแนวทางในการกอบกู้สถานการณ์เหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงิน นอกจากนี้ สคฝ. ยังคงตอกย้ำวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและผู้ฝากเงิน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและชำระบัญชี รวมถึงสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดีให้ประชาชนด้วยความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก

โดยวางเป้าหมายการดำเนินงานปี พ.ศ.2567 ที่สำคัญ เช่น การประมวลผลข้อมูลผู้ฝากจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากให้มีความถี่ขึ้นและความร่วมมือกับธนาคารเฉพาะกิจในการเป็น Paying Agent, การเตรียมกระบวนการด้านชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ รวมถึงการพัฒนาสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝากให้ครอบคลุมการแสดงบนช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัล และรองรับการจัดตั้งสถาบันการเงินในรูปแบบธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ฝากและประชาชนมั่นใจในสถาบันการเงินที่ผู้ฝากใช้บริการและเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของประเทศ

นายทรงพล กล่าวว่า ในส่วนของ Virtual Bank นั้น หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับ สคฝ.เป็นขั้นตอนเดียวกับธนาคารพาณิชย์เพียงแต่ไร้สาขาเท่านั้น ซึ่งทางสคฝ.มีการเตรียมพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน สคฝ.มีเงินทุนจำนวน 140,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเพียงพอในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความแข็งแกร่ง แต่ยังต้องมีความระวังจากปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงหนี้ครัวเรือนภายในประเทศที่สูง จึงต้องเร่งให้ความรู้กับกลุ่มครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยให้มีการใช้จ่ายในวิถีที่ถูกต้อง คือ อย่าใช้เกินตัว ใช้ให้เกิดรายได้ควรใช้ ใช้แล้วหมดไปใช้ให้น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น