ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมกำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ในกรอบประมาณ 1.86-1.91 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิยังน่าจะเติบโตต่อเนื่องและเป็นแรงหนุนสำคัญของผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ของระบบแบงก์ไทยยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือน ก.ย.-ต้นเดือน ต.ค.2566 ตามรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 ทั้งนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะช่วยหนุน NIM แบงก์ไทยให้ขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบ 3.14-3.18% ในไตรมาส 3/2566 จาก 3.09% ในไตรมาส 2/2566 นอกจากนี้ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อน่าจะได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อโดยรวมด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าต้นทุนการระดมเงินฝากในไตรมาส 3/2566 อาจขยับสูงขึ้นตามสัดส่วนเงินฝากประจำที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนเงินฝากประจำในไตรมาส 3/2566 จะขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 29.0-29.4% ต่อเงินฝากโดยรวม ในขณะที่ต้นทุนเงินฝากของระบบแบงก์ไทยอาจปรับตัวขึ้นมาที่กรอบ 0.80-0.88% ในไตรมาส 3/2566 จาก 0.71% ในไตรมาส 2/2566 หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/2566 และทยอยออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3/2566 ธนาคารพาณิชย์มีการออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษสุทธิ (จำนวนแคมเปญออกใหม่ ลบด้วยจำนวนแคมเปญที่ครบกำหนด) ประมาณ 36 แคมเปญ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับที่ออกสุทธิจำนวน 24 แคมเปญในไตรมาส 2/2566
ด้านสินเชื่อยังเติบโตในกรอบต่ำ ขณะที่การปรับสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในระหว่างไตรมาส อาจมีผลกระทบต่อการบันทึกมูลค่าตามราคาตลาดของสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ โดยสถานการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง น่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตสำหรับในส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่อย่างระมัดระวัง ประกอบกับยังคงมีแรงกดดันจากการทยอยชำระคืนสินเชื่อในระหว่างไตรมาส ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ยังมีโอกาสเห็นสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยเติบโตในกรอบต่ำที่ 0.1-0.3% YoY ในไตรมาส 3/2566 ชะลอตัวลงจากที่เติบโต 0.5% YoY ในไตรมาส 2/2566
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนในตราสารหนี้ของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น (บอนด์ยิลด์ไทยอายุ 1-5 ปี ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 ปรับสูงขึ้นประมาณ 30-45 basis points เมื่อเทียบกับระดับ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566) อาจมีผลกระทบต่อการบันทึกมูลค่าตามราคาตลาดของสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าเงินลงทุนในตราสารหนี้ในไตรมาส 3/2566 จะมีสัดส่วนประมาณ 11.2-11.4% ต่อสินทรัพย์รวมของระบบแบงก์ไทย สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วน 10.9% ในไตรมาส 2/2566 และเมื่อรวมผลของปัจจัยนี้เข้ากับภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมในหมวดบัตรเครดิต บริการบัตร ATM/บัตรเดบิต รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้า (ซึ่งอาจยังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดทุน) อาจทำให้รายได้ในส่วนที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 3/2566 มีทิศทางชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทำให้การดูแลคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อยังคงเป็นโจทย์ต่อเนื่องที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ และจากสัญญาณการขยับขึ้นของสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (สินเชื่อ Stage 2) และข้อมูลจำนวนบัญชีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ ณ สิ้นเดือน ก.ค.2566 ที่ขยับขึ้น มาที่ 2.31 ล้านบัญชี จาก 2.21 ล้านบัญชี ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2566 ก็เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องติดตามและประเมินความสามารถในการชำระคืนหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มธุรกิจและครัวเรือนรายย่อย และช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่กับการเร่งจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) เพื่อรักษาระดับ NPLs และลดแรงกดดันต่อค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ซึ่งจากภาพดังกล่าวทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ (ระบบแบงก์ไทย+สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) อาจทรงตัวหรือมีโอกาสปรับตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบ 2.63-2.67% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/2566 จาก 2.67% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2566 ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจอยู่ในกรอบ 1.25-1.29% ในไตรมาส 3/2566 ลดลงเล็กน้อยจาก 1.30% ในไตรมาส 2/2566 แต่ยังนับเป็น Credit Cost ที่สูงกว่าในช่วงสถานการณ์ปกติ
ในช่วงที่เหลือของปี 2566 การประคองผลการดำเนินงานท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงเป็นโจทย์ที่กระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งปรับตัว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 จะยังคงเห็นความพยายามของธนาคารพาณิชย์ในการจัดการปัญหา NPLs พร้อมๆ กับการเตรียมสภาพคล่องเพื่อพร้อมรองรับความต้องการใช้สภาพคล่องในระบบที่อาจเพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมไปถึงการดูแลให้การเติบโตของเงินฝากสอดคล้องกับสัญญาณสินเชื่อ โดยอาจมีการออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษต่อเนื่องเพื่อระดมสภาพคล่อง และแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพื่อเป็นตัวเลือกของผู้ฝากเงินในช่วงปลายปี นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์คงต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรับมือกับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2567 ด้วยเช่นกัน