ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) คาดไตรมาส 3/66 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทย จะทำกำไรได้ 5.24 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้ง yoy และ qoq โดยปัจจัยหนุนหลัก มาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มขึ้น
ธนาคารพาณิชย์ของไทยที่ฝ่ายวิจัย ซีจีเอสฯ ศึกษาข้อมูลมี 7 แห่ง ประกอบด้วย BBL, KBANK, SCB, KTB, TTB, TISCO และ KKP
ฝ่ายวิจัย ซีจีเอสฯ ประมาณการว่า ในไตรมาส 3 นี้ กลุ่มแบงก์จะทำกำไรสุทธิได้ราว 5.24 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% yoy และเพิ่มขึ้น 0.4% qoq โดยกำไรเติบโต yoy จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มขึ้น ส่วน qoq เติบโตเล็กน้อย จากผลดีการสำรองหนี้สูญลดลงเล็กน้อยถูกหักล้างด้วยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น
เราคาดว่าไตรมาส 3 นี้ กลุ่มแบงก์จะมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ราว 43.5% เพิ่มขึ้นจาก 42.9% ในไตรมาส 2/66 จากการขยายกิจการและการลงทุนระบบไอที
การเติบโตของสินเชื่อในไตรมาส 3 คาดลดลง 0.4% yoy แต่บวก 0.1% qoq ผลจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ชำระคืนหนี้ และลูกค้าบางส่วนหันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ แต่ความต้องการสินเชื่อของกลุ่มลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเช่าซื้อ รวมทั้ง SME ต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น หลังความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคดีขึ้น
เราคาดว่า NIM ไตรมาส 3 จะเพิ่มขึ้น 8bp qoq เป็น 3.49% จากการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ สะท้อนการปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย 50bp ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยธนาคารไทยขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ benchmark ทั้งหมดในอัตรา 20-25bp ในไตรมาส 3 และคาดปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในไตรมาส 4 หลังแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อ 27 ก.ย. 66 เชื่อว่าธนาคารไทยจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นเดือนต.ค.นี้
สำหรับสินทรัพย์นั้น เรามองว่าทรงตัว แต่ KBANK และ SCB มีอัตรการสำรองหนี้สูญสูง เราเชื่อว่าอัตราส่วน NPL ค่อนข้างทรงตัวที่ 3.63% เทียบกับ 3.61% ในไตรมาส 2/66 มองว่าสินเชื่อรายย่อยน่าจะมีคุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น yoy และทรงตัว qoq ผลจากฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ขณะที่สินเชื่อ SME ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมถึงอาจมีแรงกดดันเพิ่มขึ้น จากคุณภาพสินทรัพย์กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถในไตรมาส 3 นี้ หลังราคารถมือสองเดือนส.ค.66 ปรับตัวลง 11% yoy จึงประมาณการว่ากลุ่มธนาคารจะมีอัตราการสำรองหนี้สูญในไตรมาส 3 อยู่ที่ราว 153bp (-5bp qoq) โดย KBANK และ SCB จะมีอัตราการสำรองหนี้สูญสูงที่ 205bp และ 184bp ตามลำดับ
เรายังแนะนำ Overweight หุ้นกลุ่มธนาคารไทย มองว่ากลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งหนุนโดยการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ และคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นในปี 66-67 เลือก BBL และ SCB เป็นหุ้น Top pick เนื่องจากประเมินมูลค่าน่าสนใจและมีกำไรสุทธิสม่ำเสมอ ให้ราคาเป้าหมาย 193 บาท และ 145 บาท ตามลำดับ
ปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนราคาหุ้นคือ ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นจาก GDP ที่จะเติบโตแข็งแกร่ง และผลดีจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วน downside risk จะมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง และการกำกับดูแลที่เข้มงวด ที่อาจกระทบต่อเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยอดสินเชื่อรวมขยายตัวลดลง ///