นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 ต.ค.) ที่ระดับ 37.11 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 37.04 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.25 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 37.02-37.16 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับของสหรัฐฯ (JOLTs Job Openings) ทั้งนี้ แม้ว่ายอดตำแหน่งงานเปิดรับจะเพิ่มขึ้น สูงกว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ทว่า การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของทั้ง Quit Rate และ Hire Rate (ซึ่งมักจะสอดคล้องกับแนวโน้มอัตราการเติบโตของค่าจ้าง) ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคง “แข็งแกร่ง” หรือไม่ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์และราคาทองคำยังคงแกว่งตัว sideway อนึ่ง เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้บ้าง หลังราคาทองคำได้ปรับตัวลงทดสอบโซนแนวรับสำคัญ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่เริ่มชะลอลงบ้าง ขณะที่ราคาทองคำเริ่มมีสัญญาณพร้อมรีบาวนด์สูงขึ้น อาจช่วยชะลอโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง ทำให้เรายังคงประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทในช่วงโซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงมีความผันผวนและยังมีทิศทางไหลออกอาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทได้ในช่วงนี้ จนกว่าจะเห็นการกลับตัวของบอนด์ยิลด์ระยะยาวในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ระยะยาวของไทยและลดแรงขายบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ส่วนในฝั่งหุ้น เรายังคงมองว่าแรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสชะลอลง หลังดัชนี SET ได้ปรับตัวลงมาพอสมควร จนในเชิง Valuation ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่แพง (เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเน้น buy on dip และเลือกลงทุนในหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐ)
อย่างไรก็ดี ควรจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังจากที่เงินเยนญี่ปุ่นได้เคลื่อนไหวผันผวนผิดปกติในช่วงคืนก่อนหน้า จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า ทางการญี่ปุ่นอาจเริ่มเข้าแทรกแซงค่าเงิน อนึ่ง เรามองว่า แม้ทางการญี่ปุ่นจะเข้าทำการแทรกแซงค่าเงินจริง แต่ไม่อาจทำให้เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าได้อย่างยั่งยืน จนกว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น ทว่า ความผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่นอาจส่งผลให้ต่อตลาดค่าเงินโดยรวมได้
ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ (ซึ่งจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจส่วนใหญ่กว่า 70% อยู่ในภาคการบริการ)
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งยังคงออกมาสนับสนุนแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน โดยภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทำจุดสูงสุดใหม่ใกล้ระดับ 4.80% และกดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง นอกจากนี้ หุ้น Amazon -3.7% และ Microsoft -2.6% ยังปรับตัวลงแรงจากข่าวการทางการอังกฤษเตรียมเข้าตรวจสอบพฤติกรรมผูกขาดตลาด Cloud Computing ในอังกฤษ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -1.87% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.37%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงกว่า -1.10% กดดันโดยการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่ม Utilities และกลุ่มเทคฯ (Enel -2.5% ASML -1.7%) ที่อ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของบรรดาธนาคารกลางหลัก นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังได้กดดันราคาแร่โลหะ อย่างทองแดง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ต่างปรับตัวลดลง (Rio Tinto -1.7%) และกดดันภาพรวมตลาดหุ้นยุโรป
ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป รวมถึงรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.80% และแม้ว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบปี ทว่าคำแนะนำของเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยเราคงมองว่า นักลงทุนควรทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยิลด์ปรับตัวขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward (มอง Total Return และ Real Yield) มีความคุ้มค่า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างมีสถานะ Short บอนด์ระยะยาวกันมาก ทำให้หากมีปัจจัยที่ทำให้มุมมอง Higher for Longer เปลี่ยนไป เรามองว่าการทยอยปิดสถานะ Short อาจช่วยหนุนให้บอนด์ยิลด์ปรับตัวลงได้ไม่ยาก
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 107 จุด (กรอบ 106.9-107.6 จุด) โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะผันผวนแข็งค่าขึ้นบ้าง จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด ส่วนหนึ่งมาจากทั้งแรงขายทำกำไรของผู้เล่นตลาด รวมถึงความเคลื่อนไหวของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ดูจะมีความผิดปกติ จนทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนมองว่า ทางการญี่ปุ่นอาจได้เข้าแทรกแซงค่าเงินในคืนก่อน ทำให้เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นหลังอ่อนค่าทะลุระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้ง่ายและยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,838 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่าการปรับตัวลงของราคาทองคำใกล้โซนแนวรับหลักจะทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ ไฮไลตฺสำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เช่น ยอดการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Nonfarm Employment) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดได้
ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า RBNZ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.50% หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป