xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 36.70 โมเมนตัมการอ่อนค่าเริ่มแผ่ว จับตาฟันด์โฟลว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 36.25-36.85 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (2 ต.ค.) ที่ระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 36.43 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 36.39-36.70 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามทิศทางการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวหลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้านี้เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าลงของเงินหยวนจีน หลังรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ออกมาแย่กว่าคาด สวนทางกับดัชนี Official PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่รายงานก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าเริ่มแผ่วลงบ้าง และการอ่อนค่าอาจยังถูกจำกัดแถวโซนแนวต้านล่าสุดแถว 36.85 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีความผันผวน (แต่มองว่าแรงขายอาจลดลง) นอกจากนี้ ควรระวังและจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาทองคำ โดยการปรับฐานต่อเนื่องของราคาทองคำอาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสชะลอการแข็งค่าหรือพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะฝั่งการจ้างงานไม่ได้ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของเฟด ทั้งนี้ หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์ได้

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรรอจับตารายงานดัชนี ISM PMI และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ส่วนในฝั่งไทยรอติดตามอัตราเงินเฟ้อ CPI

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ฝั่งสหรัฐฯ - ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกันยายน เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) รวมถึงรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls:NFP) โดยในส่วนของดัชนี ISM ภาคการผลิต ตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯ อาจฟื้นตัวดีขึ้น แต่โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตที่ระดับ 47.7 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ส่วนภาคการบริการ แม้ว่าจะยังคงขยายตัวได้ แต่จะเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงชัดเจน หลังการใช้จ่ายครัวเรือนอาจเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวลงต่อเนื่องของการจ้างงาน รวมถึงผลกระทบจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี ISM PMI ภาคการบริการอาจลดลงสู่ระดับ 53.5 จุด ส่วนในฝั่งตลาดแรงงาน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าการจ้างงานมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น โดย NFP เดือนกันยายนอาจเพิ่มขึ้นราว 1.6 แสนราย ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1.9 แสนราย (ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีการปรับปรุงข้อมูลก่อนหน้าหรือไม่ เพราะในปีนี้ NFP มักจะถูกปรับลดลงราว -5 หมื่นตำแหน่ง หลังการปรับปรุงข้อมูล) ส่วนอัตราการว่างงานอาจทรงตัวที่ระดับ 3.8% ไม่ต่างจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ที่จะขยายตัว +4.3%y/y เท่ากับเดือนก่อนหน้า และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด

▪ฝั่งยุโรป - ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างใกล้ชิด หลังจากล่าสุด อัตราเงินเฟ้ออังกฤษและยูโรโซนชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้ตลาดเริ่มมองว่าทั้ง BOE และ ECB อาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว

▪ฝั่งเอเชีย - ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งญี่ปุ่น เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ Tankan ที่สำรวจโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงานญี่ปุ่น โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage growth) ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของ BOJ ได้ หากภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนค่าจ้างมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จนอาจทำให้ BOJ มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ใกล้ระดับเป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน ในส่วนผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางฝั่งเอเชีย เราประเมินว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงในหลายประเทศจนเข้าใกล้เป้าหมายของบรรดาธนาคารกลาง แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากภาวะ El Nino และการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้บรรดาธนาคารกลางฝั่งเอเชียเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม โดยธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.10% 5.50% และ 6.50% ตามลำดับ

▪ฝั่งไทย - เราประเมินว่าแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้วยการลดค่าไฟฟ้าลง แต่ทว่า ผลกระทบจากภาวะ El Nino อาจยังหนุนให้ราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นราว +0.3%m/m (ส่วนใหญ่มาจากการปรับตัวขึ้นของราคาข้าว แป้ง ผักและผลไม้) นอกจากนี้ ราคาพลังงานยังปรับตัวขึ้นไม่น้อยกว่า +2%m/m ทำให้โดยรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้น +0.2%m/m หรือ +0.86%y/y ทั้งนี้ หากโมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อรายเดือนเพิ่มขึ้นไม่เกิน +0.2%m/m อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมากนักและการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจถึงจุดยุติแล้วที่ระดับ 2.50% อนึ่ง การฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ดีขึ้นอาจช่วยหนุนให้ดัชนี PMI ภาคการผลิตของไทยในเดือนกันยายนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.5 จุด ได้ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ที่อาจปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 50 จุดได้อีกครั้ง หนุนโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น