ผู้ว่าฯ ธปท. แจงขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นการมองทิศทางเงินเฟ้อข้างหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้นในปีหน้า ย้ำหากเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาด หรือมีปัญหาช็อก ธปท.พร้อมปรับนโยบายการเงินทันที ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจแล้ว เผยเข้าพบนายกรัฐมนตรีวันจันทร์นี้ พร้อมชี้แจงทุกเรื่องหากนายกฯ สงสัยหรือถาม
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.5% ต่อปี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองภาพไปข้างหน้ามากกว่าที่จะมองตัวเลขในระยะสั้น ที่ปีหน้าจะมีมาตรการภาครัฐ ส่งออก ท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้น เอลนีโญ ราคาน้ำมัน ดันเงินเฟ้อมีโอกาสปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ตามที่ ธปท.ประมาณไว้เงินเฟ้อปีหน้าจะอยู่ในกรอบ 1.6%
"การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ย กนง.ไม่ได้มองแค่ตัวเลขที่ผ่านมาแล้ว เช่น เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 โตต่ำกว่าคาด หรือเงินเฟ้อล่าสุดที่อยู่ที่ 0.9% แต่มองปัจจัยข้างหน้าที่จะเข้ามากระทบต่อการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ต้องการแตะเบรกเศรษฐกิจหรือสกัดเงินเฟ้อ แต่เป็นการมองไปในระยะยาว ดูความเสี่ยงไปข้างหน้า และโอกาสที่เงินเฟ้อจะมีสูงขึ้นได้ในหลายๆ เรื่อง คือ ภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไปซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยปีหน้าจะขยายตัว 4.4% เราจึงไม่มีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัว หรือขยายตัวต่ำ 2.ตัวเงินเฟ้อเองซึ่งมีโอกาสขยับสูงกว่าที่เป็นอยู่จาก 2 ปัจจัย ที่หนักที่สุดคือ สภาวะเอลนีโญที่คาดว่าจะหนักมากในช่วง 2 ปีนี้ และจะส่งผลต่อราคาอาหารให้สูงขึ้น อีกปัจจัยคือราคาน้ำมันที่ขณะนี้กลับมาสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ความต้องการในการซื้อสินค้า และการผลิตอยู่ในระดับที่ใกล้กันมากขึ้น 4.ผลกระทบที่จะเกิดต่อเนื่องจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และ 5.สุดท้ายคือการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งแต่ละปัจจัยล้วนมีผลให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นได้ และที่สำคัญคือ หากทุกปัจจัยมาพร้อมๆ กัน ยิ่งอาจจะส่งเสริมกันให้ผลลัพธ์ที่ได้เกินกว่าที่ ธปท.คาดไว้ได้"
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาประมาณ 1 ปีกว่าๆ และเห็นได้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง พร้อมๆ กับสามารถดูแลเงินเฟ้อให้ไม่พุ่งสูงเกินไปจนควบคุมไม่ได้จนกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนได้ และในขณะนี้เมื่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพที่ 3-4% ต่อปี เงินเฟ้อมีโอกาสอยู่กรอบเป้าหมาย 1-3% อย่างยั่งยืน ขณะที่เสถียรภาพของระบบการเงินไม่ได้ถูกกระทบมากนัก แม้จะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง และการแสวงหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพื่อได้อัตราผลตอบแทนที่สูง วงจรของดอกเบี้ยของไทยจึงกลับมาอยู่ในการลงจอดในจุดที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไป
“หลังจากเราพยายามถอนคันเร่งมาระยะหนึ่ง การขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในครั้งล่าสุด ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่จุดสมดุล หรือจุดตรงกลางที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องโดยไม่เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพ และหากภาพเศรษฐกิจที่ ธปท.มองไปข้างหน้าในขณะนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ อัตราดอกเบี้ยนโนบายสามารถหยุดการปรับขึ้นตั้งแต่ตอนนี้ อยู่จุดนี้ไปอีกสักพัก แต่ทั้งนี้ ธปท.จะบอกว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ขึ้นอีกเลยคงไม่ได้ เพราะหากภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ความผันผวนรุนแรงกว่าที่คาดไว้ กนง.อาจจะต้องปรับนโยบายไปตามทิศทางนั้น ดังนั้น หากไปสัญญาว่าจะไม่ขึ้น แล้วในอนาคตมีความจำเป็นต้องขึ้นอีก ตลาดจะปั่นป่วนมากกว่า ซึ่ง ธปท.ไม่ต้องการเป็นตัวซ้ำเติมความผันผวนในตลาดการเงินขณะนี้ให้เพิ่ม แต่พูดได้ว่า การทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่ผ่านมาจะไม่เกิดขึ้นไปอีกระยะ”
หากมองในความเป็นจริงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับ 2.5% นี้ไม่ได้ตึงมากเกินไป จนทำให้ระบบมีปัญหาสภาพคล่อง แต่เมื่อดอกเบี้ยขึ้นมาจากระดับต่ำมากๆ ที่ 0.5% ในช่วงโควิด ตนเข้าใจหัวใจลูกหนี้ว่าถ้าเป็นหนี้แล้วดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทำให้ภาวะการเงินตึงขึ้น แต่หากมองที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยลบด้วยเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ 2% ดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่ 0.5% ซึ่งต่ำมาก และหากเทียบดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะเห็นว่า ของไทยต่ำสุด เทียบกับมาเลเซียที่ 3% เกาหลีใต้ที่ 3% กว่า อินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์ที่ 5-6% ส่วนการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงนั้น มาจากทั้งความกังวลของนักลงทุนจากปัจจัยความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงมาก และปัจจัยในประเทศ เช่น การดำเนินนโยบายของรัฐบาล การซื้อขายทองคำ การที่เศรษฐกิจไทยผูกกับเงินหยวน โดยล่าสุด จากต้นปีถึงปัจจุบันมีเงินทุนต่างชาติไหลออกแล้ว 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับเรื่องที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะมีการเชิญผู้ว่าการ ธปท.เข้าพบเพื่อหารือนั้น จะมีการเข้าพบในวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคมนี้ ซึ่งพร้อมเข้าหารือ โดยยังไม่มีการกำหนดหัวข้อหารือ แต่พร้อมตอบคำถามหรือชี้แจงได้ โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรือเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม การเข้าหารือครั้งนี้มีกระแสข่าวลือเรื่องปลดผู้ว่าการ ธปท. นายที่เศรษฐพุฒิ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้