เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส เตรียมออกขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 3/2566 จำนวน 2 ชุด ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.10-4.25% ต่อปี และชุดที่ 2 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75-4.90% ต่อปี เสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป และผู้ลงทุนสถาบัน (PO) ช่วง 14-16 พ.ย.2566 นี้ เพื่อนำเงินซื้อหนี้และเป็นทุนหมุนเวียน ตลอดจนชำระหนี้
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567 และ 2569 วัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อนำไปใช้เป็นเงินลงทุนในการเข้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหาร และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกลุ่มกิจการ และ/หรือเพื่อนำไปชำระคืนหุ้นกู้หรือเงินกู้ยืมสถาบันการเงินภายในปี 2567
ทั้งนี้ บริษัทได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือขององค์กรและหุ้นกู้ที่ระดับ "BBB+" แนวโน้ม Stable โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 สะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART อันดับเครดิต BBB+/Stable) เป็นสำคัญ โดยบริษัทมีบทบาทที่สำคัญใน "กลุ่มเจมาร์ท" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจด้านการเงินของกลุ่ม ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้บริษัทอื่นๆ ในธุรกิจด้านการเงินของกลุ่มมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ทางทริสเรทติ้งยังคาดว่าแนวโน้มอุปทานสินเชื่อด้อยคุณภาพด้านเครดิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือที่ผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์จนกระทั่งถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มีแนวโน้มที่จะเร่งนำสินเชื่อด้อยคุณภาพออกมาจำหน่ายมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 ซึ่งกรณีดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อแผนการซื้อหนี้ของบริษัท
โดยหุ้นกู้ชุดที่ 1 มีอายุ 1 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.10-4.25% ต่อปี และหุ้นกู้ชุดที่ 2 มีอายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75-4.90% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ เสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป และผู้ลงทุนสถาบัน (PO) คาดว่าจะเสนอขายในช่วงวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2566 ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด
ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ นายสุทธิรักษ์ เปิดเผยอีกว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 433.3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกำไรสุทธิรายไตรมาสที่สูงสุด คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 44.1% ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 1,249.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14.8% จากการเดินหน้าขยายพอร์ตบริหารหนี้ โดยรายได้ที่ทำสัญญากับลูกค้ารายได้ดอกเบี้ยและกำไรจากเงินให้สินเชื่อการซื้อลูกหนี้ และรายได้รายรับประกันภัยที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการบริหารการจัดเก็บพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพที่ดีเยี่ยม
ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 66 มีกำไรสุทธิ 1,004.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.4% คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 41.8% โดยมียอดจัดเก็บกระแสเงินสดอยู่ที่ 2,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้า JK AMC ที่เติบโตสูงขึ้น โดยครึ่งปีแรก 2566 ที่ผ่านมาบริษัทมีการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพรวม 4,126 ล้านบาท สนับสนุนให้ JMT มีพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรวมอยู่ที่ 468,536 ล้านบาท (รวม JK AMC) เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท หรือกว่า 30% จากพอร์ตบริหารหนี้สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 331,410 ล้านบาท
ขณะที่การบริหารการจัดเก็บพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพทำได้ดีเยี่ยม โดยครึ่งปีแรกมีกระแสเงินสดเข้ามาแล้ว 4,243 ล้านบาท ดังนั้นสิ้นปีนี้ที่วางไว้ว่าจะมีกระแสเงินสดขึ้นไปแตะที่ระดับ 9,000 ล้านบาท จากทั้งปี 2565 อยู่ที่ 6,345 ล้านบาท มองว่าจะสามารถทำได้ตามนั้น เป็นอีกปัจจัยสะท้อนภาพรวมธุรกิจของ JMT มีเสถียรภาพ และมั่นใจครึ่งปีหลังผลงานยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีโอกาสในการลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารต่อเนื่อง ย้ำเป้ากำไรสุทธิเติบโต 30% จากปีก่อนตามที่วางไว้
"ไฮไลต์ครึ่งปีแรก JMT ซื้อหนี้ก้อนใหญ่เข้ามาบริหารมูลค่าราว 60,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวเริ่มทำงานแล้ว เป็นฐานในการสร้างรายได้ในครึ่งปีหลังและในอนาคต ขณะที่ประเมินสภาพตลาดหนี้ที่ JMT ซื้อเข้ามาโดยปกติประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปีนี้มองว่าจะเยอะกว่าปกติ และนับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทร่วมทุน JK AMC ทำให้พอร์ตเรามีขนาดไซส์ใหญ่ขึ้น เสมือนเราได้ Backlog ตุนล่วงหน้ามา 3-5 ปี เพิ่มความแข็งแกร่งของผลการดำเนินงานในอนาคต" นายสุทธิรักษ์ กล่าว