xs
xsm
sm
md
lg

AMRO ชี้เศรษฐกิจไทยโต 3.7% ชม ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินเหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะผู้แทนจาก ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) นำโดย Dr.Kouqing Li ผู้อำนวยการ และ Dr.Hoe Ee Khor หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เข้าพบนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน เพื่อรายงานผลการสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2566 มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดี ปี 66 โต 3.7% ปี 67 โต 3.9% โปรยยาหอม ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินเหมาะสม นโยบายช่วยเหลือแก้หนี้ได้ตรงจุดได้ผล
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำโดย นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถีบรภาพการเงิน ให้การต้อนรับคณะ ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว 3.7% ในปี 2566 และ 3.9% ในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยอยู่ที่ 1.6% ในปี 2566 จากราคาอาหารที่ลดลง และ 2.0% ในปี 2567 จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและราคาอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ฐานะด้านต่างประเทศของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และเพียงพอรองรับต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
 
ด้านนโยบายการเงิน มองว่า ธปท.มีการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการเงิน อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไป ทิศทางในการดำเนินนโยบายการเงินยังขึ้นกับพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงสำคัญจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยและภาคการท่องเที่ยวสูง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
 
ด้านเสถียรภาพการเงิน ประเทศไทยมีการทยอยปรับลดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในช่วงโควิด-19 ให้เข้าสู่ระดับปกติ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ที่จะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูงและมีความเปราะบาง โดยอาจต้องหาแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การเปลี่ยนไปพึ่งพาแหล่งทุนนอกระบบ
 
สำหรับนโยบายการคลัง AMRO มองว่า สนับสนุนการลดขาดดุลงบประมาณ โดยเฉพาะการถอนมาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนราคาพลังงานจากการที่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและราคาพลังงานที่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญจะช่วยรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังไว้ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในอนาคต
 
ในระยะยาว ไทยควรเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานที่จะช่วยยกระดับห่วงโซ่การผลิตและผลิตภาพแรงงาน นอกจากนี้ ไทยควรเข้าร่วมเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้ในระยะยาว นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่ควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น