"เกษม" ออกแถลงการณ์ข้อเท็จจริงคดีวินด์ เอนเนอร์ยี ที่ศาลอังกฤษตัดสินให้ "ณพ" ชดใช้ "นพพร" 3 หมื่นล้าน ระบุ ณพ-แม่ยาย ไม่สุจริต ยักยอกโอนถ่ายหุ้นครอบครัว ขณะเดียวกัน ศาลอังกฤษ-ไทยตัดสินเหมือนกันถูกปลอมลายเซ็นขายหุ้น เผย "ณพ" ทำความเสียหายให้ครอบครัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีคำตัดสินของศาลอังกฤษให้นายณพ ณรงค์เดช กับพวก ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท วินด์เอนเนอร์ยี่ (WEH) และผู้ต้องหาหลบหนีคดี ม.112 เป็นเงินจำนวนประมาณ 3 หมื่นล้านบาทนั้น
วันนี้ (17 ส.ค.) นายเกษม ณรงค์เดช บิดาของนายณพ ณรงค์เดชได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การกระทำของนายณพ ในการได้หุ้น WEH มาโดยไม่สุจริตไม่เกี่ยวกับครอบครัว ซึ่งครอบครัวเพียงจัดหาเงินทุนในการซื้อหุ้นและได้หุ้นมาในครอบครองแล้ว แต่มาพบหลักฐานภายหลังอีกว่านายณพ กับพวกได้ร่วมกันโดยไม่สุจริตและนำความเสียหายอย่างมากมาให้แก่ครอบครัว รวมถึงเป็นผู้ก่อให้เกิดกรณีพิพาทในฐานะตัวแทนของครอบครัวกับนายนพพร
ขณะเดียวกัน ศาลอังกฤษยังได้พิจารณาพยานหลักฐานแล้วมีคำพิพากษาสอดคล้องกับศาลในประเทศไทยที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เชื่อว่าข้าพเจ้าไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559
ทั้งนี้ แถลงข้อเท็จจริงตัวเต็มของนายเกษมระบุดังนี้ว่า จากแหล่งข่าวต่างๆ ที่ปรากฏตามหน้าสื่อที่ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ได้ยื่นฟ้อง นายณพ ณรงค์เดช กับพวก ซึ่งล่าสุดศาลที่อังกฤษได้มีคำพิพากษาให้ นายณพ กับพวก ชดใช้ค่าเสียหายแก่ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ เป็นเงินจำนวนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในข่าวดังกล่าวได้มีชื่อ และภาพของข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ข้าพเจ้า นายเกษม ณรงค์เดช ขอแจ้งข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวให้ทราบว่า เดิมครอบครัวณรงค์เดซ ได้ตกลงร่วมกันจัดหาเงินทุนเพื่อมอบให้ นายณพ ณรงค์เดช ไปซื้อหุ้นบริษัท วินด์ฯ แทนครอบครัวณรงค์เดช ในฐานะตัวแทนของครอบครัว จนหุ้นของบริษัท วินด์ฯ ได้ตกมาเป็นของครอบครัวแล้ว แต่ต่อมาภายหลังครอบครัวได้พบหลักฐานว่า นายณพ กับพวกได้ร่วมกันโดยไม่สุจริตและนำความเสียหายอย่างมากมาให้แก่ครอบครัว รวมถึงเป็นผู้ก่อให้เกิดกรณีพิพาทในฐานะตัวแทนของครอบครัวกับนายนพพร จากการเข้าซื้อหุ้นบริษัท วินด์ฯ รวมถึงมีการปลอมแปลงเอกสาร
และลายมือชื่อของข้าพเจ้าในเอกสารทั้งหมดจำนวนหลายรายการที่นายณพ กับพวกใช้เป็นหลักฐานทางธุรกรรมในการโอนหุ้นของบริษัท วินด์ฯ ไปยัง คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ซึ่งเป็นแม่ยายของนายณพ ซึ่งระหว่างการดำเนินการทั้งหมดนายณพ เป็นผู้ดำเนินการและครอบครองเอกสารทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว นั่นเป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าตัดสินใจประกาศตัดขาดนายณพ ออกจากครอบครัวณรงค์เดช ตามแถลงการณ์ของข้าพเจ้าในปี 2561
ก่อนหน้านี้ กลุ่มบริษัทของนายนพพรได้มีการนำพยานหลักฐานชุดเดียวกันกับที่มีส่งฟ้องต่อศาลประเทศอังกฤษมาฟ้องนายณพ รวมถึงข้าพเจ้าต่อศาลในประเทศไทย ซึ่งศาลในประเทศไทยได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.483/2564 โดยมีคำพิพากษายกฟ้องข้าพเจ้า เนื่องจากสัญญาซื้อขายหุ้น ที่นายณพ กับพวกได้กระทำขึ้นโดยทุจริตเป็นเอกสารปลอม รายละเอียดตามเอกสารที่แนบมานี้ ซึ่งผลของคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลว่า เมื่อนายนพพร ได้ยื่นฟ้องข้าพเจ้าอีกครั้งด้วยพยานหลักฐานเดิมที่ประเทศอังกฤษ ข้าพเจ้าจึงไม่ได้เข้าร่วมต่อสู้คดีที่ศาลอังกฤษ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนอีกแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ศาลอังกฤษโดยผู้พิพากษาได้พิจารณาพยานหลักฐานแล้วมีคำพิพากษาสอดคล้องกับศาลในประเทศไทยที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เชื่อว่าข้าพเจ้าไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นเอกสารปลอมนั่นเอง
นอกจากนี้ ผู้พิพากษาคดีที่ศาลอังกฤษยังได้พิจารณาจากคำแถลงการณ์เปิดคดีของคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ว่าได้ให้การช่วยเหลือนายณพ ในการกระทำผิด โดยให้การเท็จเกี่ยวกับการชำระเงิน 2,400 ล้านบาท ตามสัญญาซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 และปลอมสัญญาแต่งตั้งตัวแทนที่อ้างว่าข้าพเจ้าเป็นตัวแทน คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ซึ่งกรณีดังกล่าวมีการฟ้องร้องเป็นคดีกันอยู่ คดีหมายเลขดำที่ อ.2497/2561 ที่ ศาลอาญารัชดา นอกจากนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดกได้มีคำสั่งฟ้องนายณพ และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม คดีหมายเลขดำที่ อ.1708/2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อีกเช่นกัน ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาสืบพยาน