xs
xsm
sm
md
lg

"ตั้ม พิริยะ" ร่ายยาวฟาดยับ "นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท พรรคเพื่อไทย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากพูดถึงอุตสาหกรรมบล็อกเชน และคริปโต หนึ่งในบุคคลที่จัดเป็นกูรูแหล่งความรู้การลงทุน และการฉายฉากทัศน์ทั้งด้านมืดและด้านสว่างของการลงทุนคริปโตและประเภทเหรียญต่างๆให้ประชาชนและนักลงทุนมือใหม่ได้เข้าใจ ซึ่ง ณ ตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก "พิริยะ สัมพันธารักษ์ หรือ ตั้ม"  บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของ "ลุงโฉลก สัมพันธารักษ์" กูรูการลงทุนหุ้นและโภคภัณฑ์รุ่นเก๋าของไทย ที่ได้ออกมาวิเคราะห์เศรษฐกิจการลงทุนในหลากหลายประเภทอยู่บ่อยครั้ง

ล่าสุดจากกรณีนโยบายพรรคเพื่อไทย ที่ชูนโยบายหาเสียงสมัยก่อนเลือกตั้งว่าจะแจกเงิน 10000 บาท ผ่านระบบบล็อกเชนที่ได้ทุกคน โดยมีเงื่อนไขต้องใช้จ่ายภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากพิกัดที่อยู่ในบัตรประชาชน ในกรอบเวลาจำกัด ซึ่งได้มีการวิพากย์วิจารย์ถึงนโยบายการใช้เงินดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบของนโยบายนี้ โดยเฉพาะที่เป็นนโยบายจุดขายของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกพรรคเพื่อไทย ที่พยายามผลักดันนโยบายนี้เรียกคะแนนนิยมอย่างเต็มสูบ แต่ในทางกลับกันอาจส่งผลกระทบเชิงลบเกิดขึ้น เพราะทำให้คนที่ไม่รู้ เข้าใจวัตถุประสงค์ของการนำบล็อกเชนมาใช้อย่างผิดๆ ซึ่ง "พิริยะ สัมพันธารักษ์ หรือ ตั้ม" ได้อธิบายถึงโพสต์ต้นทางที่เป็นการส่งต่อมาเป็นข้อๆว่า 

"ต้องขออภัยเจ้าของโพสต์ด้วยนะครับ พอดีผมได้รับการ forward post นี้มาหลายรอบมาก ๆ เลยจะขอชี้แจงมุมมองสักหน่อยเพื่อเป็นความรู้

#ปล. ย่อหน้าที่มีเครื่องหมาย > คือ quote นะ

ก่อนจะเข้าสู่ตัวเนื้อหา เราต้องทำความเข้าใจคำว่า บล็อกเชน กันก่อน บล็อกเชน หรือที่เรียกว่า ไทม์เชน โดย ซาโตชิ นากาโมโตะ ผู้คิดค้นมันขึ้นมา เป็นเทคโนโลยีสำหรับการแก้ปัญหาความต้องการความเชื่อใจในตัวกลาง โดยการสร้างระบบ timestamp server ที่ปราศจากศูนย์กลางขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน ด้วยการประทับเวลาและเรียงลำดับกิจกรรมหรือธุรกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว เงินที่ถูกใช้ไปแล้วจึงจะไม่สามารถนำมาใช้ได้เป็นครั้งที่สอง (การใช้เงินซ้ำซ้อน มีผลเหมือนการผลิต หรือเสกเงิน (money counterfeit) ระบบเงินสดดิจิทัลไม่สามารถใช้งานได้หากผู้ใช้เงินสามารถกดเสกเงินได้ตามใจชอบ หรือสามารถทำให้ธุรกรรมชำระเงินเป็นโมฆะเพื่อการฉ้อโกง)

องค์ประกอบสำคัญของบล็อกเชน คือ

1.) บล็อก ซึ่งหมายถึงกลุ่มก้อนข้อมูลที่นำมามัดรวมกัน เช่นธุรกรรมการเงินกว่า 2000 รายการ หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การนำข้อมูลมาจัดการเป็นก้อน ๆ แทนที่จะทำการประทับเวลาและเรียงลำดับเหตุการณ์ให้ไม่มีข้อผิดพลาด สาเหตุที่ระบบไม่สามารถประทับเวลาและเรียงลำดับเหตุการณ์ตามลำดับการเกิดขึ้นจริงได้ เนื่องจากระบบไม่มีเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง และไม่ได้มีผู้มีอำนาจบันทึกบัญชีส่วนกลาง ทุกคนที่ใช้งานระบบเป็นผู้บันทึกบัญชี และโหนดที่เก็บบัญชีก็กระจายตัวกันอยู่ทั่วโลก ทำให้จำเป็นต้องเรียงธุรกรรมทีละบล็อก และกำหนดให้มีระยะเวลาระหว่างแต่ละบล็อกที่ห่างกันเพียงพอที่จะทำให้บัญชีของทุกโหนดที่กระจายตัวอยู่ได้รับบัญชีบล็อกล่าสุดก่อนที่จะมีบล็อกถัดไปเข้ามาต่อ และ

2) เชน หมายถึงการที่แต่ละบล็อกมีส่วนเชื่อมต่อกัน โดยทุกบล็อกจะมีแฮช ซึ่งเปรียบเสมือนลายนิ้วมือของบล็อกก่อนหน้าบรรจุอยู่ภายในบล็อก เพื่อเป็นหลักฐานว่าบล็อกปัจจุบันถูกสร้างขึ้นต่อจากบล็อกก่อนหน้า หากมีใครพยายามแก้ไขข้อมูลในบล็อกใดก็ตาม แฮชของบล็อกนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับเชนที่มีอยู่เดิมได้ และผู้โจมตีที่ต้องการแก้ไขบัญชีย้อนหลังจะต้องสร้างบล็อกขึ้นมาใหม่ด้วยความเร็วที่สูงกว่าระบบทั้งระบบที่ระดับความยากเดียวกัน ซึ่งเป็นค่าที่โหนดทุกโหนดสามารถคำนวณได้ด้วยตัวเองเพื่อการตรวจสอบ

การทำงานของบล็อกเชนนั้นผูกพันธ์กันอย่างลึกซึ้งกับกระบวนการ proof of work ที่ใช้ในการพิสูจน์ค่าแฮชของแต่ละบล็อกว่าได้มีการใช้พลังงานและเวลาไปมากพอตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็นหรือไม่ เนื่องจากเวลาและพลังงานเป็นเพียงสิ่งเดียวที่มนุษย์ และ คอมพิวเตอร์ ไม่สามารถเสกขึ้นมาได้ เป็นการเชื่อมโยงความมั่นคงแข็งแกร่งของบัญชีธุรกรรมเข้ากับตัวแปรที่มนุษย์ไม่สามารถเสกหรือโกงได้

การนำเอาบล็อกเชนมาใช้กับระบบการสร้าง proof แบบอื่นจึงเป็นการหลงประเด็นโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะ proof of stake ที่เป็นการนำเอาความมั่นคงของบัญชีมาผูกกับเม็ดเงินที่คนบางกลุ่มสามารถเสกได้ ในขณะที่คนกลุ่มอื่น ๆ ทำไม่ได้ หรือ proof of authority ซึ่งเป็นการตบหน้าการออกแบบระบบโดยสิ้นเชิง แต่เราจะไม่ออกไปเรื่องดังกล่าวในตอนนี้

*/> ฝากไปบอก ศิริกัญญาด้วยว่า ถ้าใช้แอพเป๋าตังค์ จากที่แจก 10000 บาท ให้แฮกเกอร์ มันจะกลายเป็น 1000 ล้านก็ได้ แฮกเกอร์ปลอมเงินดิจิตอลเข้าสู่ระบบได้ไม่ยากเลย ถ้าไม่มีบล็อกเชน ควบคุมระบบ ถึงตอนนั้น รัฐบาลเพื่อไทย จะอิบอ๋าย มั๊ยล่ะครับ ศิริกัญญา

> ทำไมบล็อกเชน ป้องกันแฮกเกอร์ได้ เล่าไปหลายโพสต์แล้ว ไปตามอ่านเอง
/*

มาที่ประเด็นแรก จริงอยู่ระบบบล็อกเชนสามารถป้องกันการเสกเงินในระบบผ่านการ double spend ได้ แต่มันเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเอาศูนย์กลางออก ในระบบรวมศูนย์ การทำธุรกรรมจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติและบันทึกบัญชีโดยส่วนกลาง ซึ่งตัวกลางจะทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมจำนวนหน่วยเงินในระบบ และป้องกันการ double spend ผ่านการ debit และ credit บัญชีให้ไม่มียอดเพิ่มขึ้นมา (เว้นแต่ตัวกลางเองต้องการผลิตเพิ่มด้วยการออกสินเชื่อ) ในระบบเช่นนี้ เราไม่ได้มีปัญหาการ double spend แต่แรก แต่ระบบที่รวมศูนย์นั้นก็จะเสี่ยงต่อการถูกเจาะระบบเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลจากภายในได้ แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลส่วนกลางที่ถูกแก้ไข ก็สามารถแก้ไขกลับคืนได้ด้วยส่วนกลางเช่นกัน

คำถามต่อมาคือการใช้บล็อกเชนสามารถป้องกันการแก้ไขข้อมูลและการใช้เงินซ้ำซ้อนได้จริงหรือ ?

การจะตอบข้อนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงธรรมชาติของบล็อกเชนที่พูดถึงด้วย ว่าเป็นบล็อกเชนแบบไหน ระบบอย่างบิตคอยน์นั้น เปิดให้ใครพยายามโจมตี พยายามแก้ไขก็ได้ แต่ผู้โจมตีจำเป็นต้องมีกำลังการขุดมากกว่ากำลังการขุดของทั้งโลกรวมกัน ต้องใช้กำลังไฟฟ้ามากถึง 16GW ต่อชั่วโมง ต้องมีเครื่องขุดรุ่นล่าสุดกว่าล้านเครื่อง และต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงถึงหลายวัน จึงจะสามารถแก้ไขบัญชีย้อนหลังได้สักรายการหนึ่ง แต่สำหรับบล็อกเชนอื่น ๆ ที่มี PoW น้อยกว่ามาก ๆ การแก้ไขข้อมูลย้อนหลังไม่ใช่เรื่องยาก หรือถ้าเป็นบล็อกเชนที่ใช้ระบบอื่น ๆ ผู้ที่มำอำนาจคุมทรัพยากรของ proof ได้ก็สามารถควบคุมธุรกรรมได้ มองในมุมรัฐบาล รัฐน่าจะใช้บล็อกเชนแบบ PoA ซึ่งหมายถึงระบบรวมศูนย์โดยสมบูรณ์ เป็นเพียงการเล่นละครกระจายศูนย์ปาหี่เท่านั้น เมื่อรวมศูนย์แล้ว จึงมีความเสี่ยงที่ศูนย์กลางจะถูกเจาะเข้าควบคุมระบบได้ไม่ได้ต่างอะไรกับระบบฐานข้อมูลโดยทั่วไป กล่าวคือ มี single point of failure และยังจำเป็นต้องอาศัย trust

*/> ในทางเศรษฐศาสตร์ การกระตุ้นเศรษฐกิจ นั้น คือการทำอย่างไรก็ได้ ที่ให้สินค้าจากผู้ผลิต เคลื่อนที่ไปถึงมือผู้ใช้ ด้วยเหตุนี้ เงินดิจิตอล มันจึงเป็นเครื่องมือ ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า นั่นเอง

/*
ในทางเศรษฐศาสตร์เคนเซียน รัฐจะมีความเพ้อฝันว่าพวกเขาสามารถกระตุ้น หรือชะลอเศรษฐกิจได้ตามใจชอบด้วยการควบคุมตลาดทุนและการควบคุมเงิน แต่เกือบร้อยปีภายใต้ความเพ้อฝันดังกล่าว หนี้สินของรัฐบาลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกอบโกยรายได้จากเงินกู้ที่ยัดเยียดให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รายได้สำหรับประชาชนทั่วไปแทบไม่กระดิกในขณะที่ข้าวของแพงขึ้นหลายสิบเท่า ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลประกาศว่าไม่มีเงินเฟ้อ ตามมาตรวัดที่รัฐประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อลูบหลังและตบรางวัลให้ตัวเอง ผมไม่เถียงในรายละเอียดครับ ผมไม่เห็นด้วยโดยหลักการ ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น รัฐไม่ควรมีอำนาจก้าวก่ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และผมมีความหายนะของโลกเป็นสิ่งยืนยัน

*/
>การให้สินค้าเคลื่อนที่ก่อน ไประยะหนึ่ง แล้วจึงมีความจำเป็นใช้เงินสด จึงเป็นวิธีคิดที่ชาญฉลาด อยู่ที่การวางกลยุทธว่า จะให้เอาเงินดิจิตอลไปเปลี่ยนเป็นเงินสดเมื่อใด ขั้นตอนไหน สำหรับผม ถ้าเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ผมจะให้ขึ้นเงินสดได้ ในขั้นตอนของผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น

>น้ำตาลทราย ชาวบ้านเอาเงินดิจิตอลไปซื้อร้านค้า ร้านค้าได้เงิน เอาไปซื้อจากร้านค้าส่ง ร้านค้าส่ง เอาไปซื้อจากยี่ปั๊ว ยี่ปั้วเอาไปซื้อจากโรงงาน โรงงาน เอาไปซื้อจากชาวไร่อ้อย ชาวไร่อ้อยจึงเอาไปขึ้นเงินสด ถึงขั้นตอนนี้ รัฐบาลจึงเริ่มมีความต้องการหาเงินสด ซึ่งได้ vat มา4ขั้นตอนแล้ว

>กรณีไปซื้อลูกชิ้นปิ้งที่ชาวบ้านปิ้งขาย พ่อค้าลูกชิ้นปิ้งสามารถขึ้นเงินสดได้เลย แต่ถ้า ไม่ขึ้นเงินสด เอาเงินดิจิตอลไปซื้อลูกชิ้นมาขายต่อ เงินดิจิตอลจะเพิ่มมูลค่า 20% แต่ถ้าไปซื้อจาก 7-11 เซเว่นไม่สามารถไปขึ้นเงินสดได้ เป็นระบบเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรม

/*การยกตัวอย่างส่วนนี้ ชี้ให้เห็นได้ชัดว่า เงินมูลค่า 10,000 บาทที่จะแจกให้กับประชาชนนั้น ไม่ใช่เงินบาท ไม่ใช่เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่จะเป็น token ที่ทางพรรคเพื่อไทยในนามรัฐบาลเสกขึ้นมา แล้วใช้กฎหมายบอกว่า มันมีค่าเท่ากับ 1 บาท ผู้คนที่รับ token นี้ไปแลกกับสินค้าและบริการ จะต้องทำโดยอาศัยความเชื่อใจว่าพวกเขาจะสามารถนำเอา token อากาศธาตุนี้ ไป "ขึ้น" เงินได้กับผู้ให้บริการ ซึ่งอาจเป็นธนาคาร หรือหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ถ้าจะทำอย่างตรงไปตรงมา รัฐจะต้องมีการตระเตรียมงบประมาณกว่า 500,000 ล้านบาทเอาไว้สำหรับ facilitate การแลก token เป็นเงินบาท โดยมีความหวังว่าถ้าประชาชนไม่แลก และใช้ต่อไปเรื่อย ๆ จะสามารถเก็บภาษีได้จากการใช้งาน และทำให้ไม่จำเป็นต้องแลกคืนได้ทั้งหมด นอกจากนั้นยังจะสามารถกำหนดได้ด้วยว่ากระเป๋าของใครสามารถนำไปขึ้นเงินสดได้ ใครไม่สามารถขึ้นได้

ถ้าทำออกมาได้อย่างนี้จริง จะแสดงถึงโครงสร้างการออกแบบที่รวมศูนย์มาก ๆ กล่าวคือ มีผู้ issue เงินเพียงผู้เดียว และผู้ใช้งานทุกคนจะต้องทำการขึ้นทะเบียนผู้ใช้งาน 1 address ต่อหนึ่งคน ไม่สามารถสร้าง private key ของตนเองและใช้งานได้ จากนั้นฐานข้อมูลส่วนกลางจะต้องกำหนดว่า ใครจะสามารถนำเงินลมเหล่านี้มาใช้ได้และใครไม่สามารถใช้ได้ และยังจำเป็นต้องรู้ตำแหน่ง geolocation ของแต่ละกระเป๋า เพื่อตรวจสอบรัศมีการใช้งานว่าผู้รับและผู้จ่ายมีภูมิลำเนาห่างกันเกิน 4km หรือไม่

จึงมั่นใจได้ว่า ไม่ใช่ระบบ open, decentralized blockchain แต่อย่างใด แต่จะต้องเป็น token digital ที่ควบคุมโดยส่วนกลาง ที่อาจใช้เทคโนโลยี public key infrastructure ในการ automate บางขั้นตอนเท่านั้น

เมื่อมองดังนี้ token ดังกล่าวจึงไม่สามารถมองได้ว่าเป็นเงินบาท เนื่องจากมีสภาพคล่องที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ มีข้อจำกัดการใช้งานที่ต่ำกว่าซึ่งจะส่งผลให้มีผู้พร้อมรับมันเพื่อแลกกับสินค้าและบริการน้อยกว่า บริษัทที่ไม่สามารถนำ token ดังกล่าวไปขึ้นเงินได้ จะต้องรับกับ counterparty risk ตลอดเวลาที่ถือ token อากาศธาตุนั้น จนอาจเป็นเหตุให้เกิดการปฏิเสธได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้การรักษาระดับราคาของ token ที่ peg กับเงินบาทด้วยลมปากนั้นทำได้ยากขึ้น แต่รัฐบาลอาจใช้กฎหมายบังคับให้รับเงินได้ อีกข้อที่น่าสนใจคือการกล่าวว่าการใช้จ่าย token ดังกล่าวเป็นทอด ๆ จะสร้างรายได้ให้กับรัฐกลับคืนผ่านภาษี แต่นั่นหมายความว่าผู้คนจะต้องสามารถนำเอา token เหล่านั้นมาจ่ายภาษีได้ด้วย แต่เนื่องจาก token ที่พรรคเสกขึ้นมาไม่ใช่ legal tender จึงไม่สามารถใช้ในการชำระภาษีได้ นอกจากมีการใช้อำนาจบิดเบือนการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสรรพากร ให้หันมารับความเสี่ยงของการถือ token ลมเหล่านี้ นอกจากนั้น การผลิต token ขึ้นมาเพื่อ circulate ในระบบโดยกำหนดให้มีค่าเหมือนเงินบาท ยังจะผิดพรบ.เงินตราฉบับ 2501 อีกด้วย

ทางออกเดียวที่จะพอทำได้ตามกฎหมาย โดยมีสมมุติฐานว่าจะยังมีความเคารพต่อกฎหมายอยู่บ้าง คือการหันไปใช้ CBDC ของแบงก์ชาติ ที่ทำกันมาหลายปีและมีการทดลองใช้แล้ว ซึ่งระบบดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์ที่ต้องการได้ทั้งหมดไม่ยาก แต่จะต่างกันที่พรรคจะไม่มีสิทธิ์ในการเสก token อากาศธาตุขึ้นมากว่า 500,000 ล้าน token แล้วนำมาแลกเป็นเงินบาทได้

>เห็นหรือไม่ว่า นั่งอยู่ในห้องควบคุม สามารถสร้างเศรษฐกิจได้ด้วยปลายมือ แบบควบคุมทิศทาง และปริมาณได้ทุกบาททุกสตางค์ พร้อมทั้งวัดผลได้ด้วยว่า หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดใด มีการเคลื่อนย้ายสินค้า ซึ่งหมายถึง จีดีพี เท่าไร จังหวัดที่เคลื่อนย้ายต่ำ อาจสร้างโปรฯ เช่น คนจังหวัดศรีสะเกษ ถ้ากลับบ้านเดือนนี้ ลดค่าโดยสารครึ่งหนึ่ง เพื่อให้กลับไปใช้เงิน และถ้ายังไม่กระตุ้ม อาจสร้างโปรณ ลดข้อจำกัดใช้ไม่เกิน 4 กม. เป็นว่า ใครไปใช้เงินดิจิตอลที่ศรีสะเกษ จะเพิ่มมูลค่า 30% เป็นต้น

*/>มันจึงเป็นนโยบายที่สนุกสนามกับการบริหารมาก ถ้าเล่นเป็น เพราะทุกอย่างของประเทศ อยู่บนหน้าจอ ในห้องควบคุม

>พวกนายแน่จริงๆ พรรคเพื่อไทย

ที่กล่าวมาคือวัตถุประสงค์ของ CBDC ครับ ผมไม่เห็นด้วยกับ CBDC แต่นั่นคือวัตถุประสงค์ที่มันถูกสร้างขึ้นมา และเค้าก็ศึกษาและทำกันมาหลายปีแล้วด้วย ทำให้ 10,000 บาทในระบบกระเป๋าดิจิทัลใหม่ที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่า "คำโฆษณาเพื่อการหาเสียง" เลย เป็นการสัญญาว่าจะ airdrop token ที่เสกขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นการเรียกคะแนนเสียงเท่านั้น โดยไม่ได้มีเหตุผลอื่นใดที่สมเหตุสมผลของการมีตัวตนอยู่เลยแม้แต่น้อย




กำลังโหลดความคิดเห็น