SCB CIO เชื่อว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% หลังประชุมในวันที่ 26 ก.ค.นี้ มอง 2-3 เดือนข้างหน้าเป็นโอกาสสุดท้ายเก็บพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 5-10 ปีเข้าพอร์ต ก่อน Bond Yield ปรับลดลง แนะใช้จังหวะนี้ลงทุน RMF-SSF เพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่เน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาลเข้าพอร์ต
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB CIO) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 25-26 ก.ค.2566 นี้ คาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 5.25-5.50% และอาจเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มชะลอลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว เพียงแต่เงินเฟ้อยังสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2% โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มิ.ย. ขยายตัว 4.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการขยายตัวในเดือน พ.ค.แต่ยังถือว่าลงช้า ขณะที่ตลาดแรงงานยังมีการจ้างงานที่แข็งแกร่งอยู่ ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นเรามองว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567
“ถ้าเฟดปรับดอกเบี้ยครั้งนี้แล้วสื่อสารว่าจะยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ตลาดอาจจะตกใจบ้าง แต่คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) คงปรับขึ้นได้ไม่มาก แต่หากเฟดออกมาสื่อสารสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่คงอัตราดอกเบี้ยระดับนี้ไปจนถึงปีหน้า คาดว่า Bond yield จะเริ่มทยอยปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ราคาพันธบัตรปรับตัวขึ้น ดังนั้น เรามองว่าแนวโน้ม 6 เดือนถึง 1 ปี หลังจากนี้ Bond yield จะปรับลดลง แต่ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าเป็นโอกาสสุดท้ายในการเข้าสะสมพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 5-10 ปี จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ” นายศรชัย กล่าว
ส่วนการลงทุนเพื่อเป้าหมายที่มีระยะเวลาไม่ยาวมาก และไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการลดหย่อนภาษี เรามองว่าอาจนำเงินดอลลาร์สหรัฐไปลงทุนผ่านกองทุนรวมตลาดเงินในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันให้ผลตอบแทนในระดับ 5% และคาดว่าผลตอบแทนจะอยู่ในระดับสูงไปอีก 5-6 เดือนข้างหน้า หลังจากนั้น ผลตอบแทนจะเริ่มลดลงเร็ว ส่วนกรณีที่มีความกังวลเรื่องการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อแลกคืนเป็นเงินบาทจากการแข็งค่าของเงินบาท ผู้ลงทุนสามารถลดความกังวลนี้ได้ด้วยการคงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไว้ในพอร์ตการลงทุนต่างประเทศ หรืออาจเก็บสะสมเงินดอลลาร์สหรัฐไว้ใช้จ่ายในอนาคต
สำหรับการลงทุนในหุ้น เรามองว่านักลงทุนในตลาดรับรู้สถานการณ์ของเฟดค่อนข้างดี สะท้อนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มผันผวนน้อยลง เริ่มเห็นสัญญาณของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น หุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ แม้ว่าจะราคาสูงแต่ยังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการส่งสัญญาณว่า ตลาดมองจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนในหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ มากขึ้น เพราะบางบริษัทราคาปรับขึ้นมา 50% จากต้นปี ทำให้มูลค่าค่อนข้างแพง หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้าอาจทำให้เกิดการปรับฐานในหุ้นกลุ่มนี้ได้
ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้สับเปลี่ยนจากหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ไปลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ที่มีความทนทานเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค (Utility) กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น (Consumer staples) เนื่องจากรายได้บริษัทในกลุ่มนี้ค่อนข้างรับมือเศรษฐกิจถดถอยได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ทั้งยังมีความสามารถในการป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อได้ดี นอกจากนี้ นักลงทุนอาจเพิ่มสินค้าโภคภัณฑ์เข้าไปในพอร์ต 5-10% ของพอร์ตโดยรวม เช่น ทองคำ ซึ่งป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
สำหรับการลงทุนในไทย มองว่าด้วยภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากนัก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แต่โดยภาพรวมยังเป็นบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ ดังนั้น จะส่งผลดีต่อการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว ส่วนในระยะสั้นอาจมีปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนพอสมควร เช่น ประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่ชัดเจน จึงแนะนำให้รอดูสถานการณ์ก่อน แล้วค่อยพิจารณาลงทุนเพิ่มเมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนขึ้น สำหรับหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจเราแนะนำให้คัดเลือกกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน เมื่อนักท่องเที่ยวจีนกลับมาจะทำให้การท่องเที่ยวคึกคักขึ้น หนุนหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มธนาคารที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น