สศค.ระบุเศรษฐกิจไทยดือนพฤษภาคม 2566 ขยายตัวต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 39 เดือน ที่ระดับ 55.7 จากระดับ 55.0 ในเดือนก่อน การท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย การบริโภคภาคเอกชน และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐยังคงหดตัว
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย การบริโภคภาคเอกชน และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 29.4 และ 13.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 24.7 และ 10.2 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนพฤษภาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 จากระดับ 55.0 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดในรอบ 39 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -6.5 และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -9.8
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 17.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 25.3 ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -12.4 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 8.1 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 3.8 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 4.1 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 33.6
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.6 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ลดลงที่ร้อยละ -1.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรลดลง เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น ข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และน้ำตาลทราย โดยขยายตัวร้อยละ 84.6 55.5 และ 44.3 ตามลำดับ รวมทั้งสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยขยายตัวร้อยละ 22.9 53.7 10.2 และ 8.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ยังมีหลายตลาดที่ยังคงขยายตัวได้ดี เช่น ตลาดทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป (15) และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 11.2 9.3 และ 4.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 97.7
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.01 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 286.3 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.2 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนพฤษาคม 2566 จำนวน 19.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 24.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 13.3 สำหรับภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -6.6 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -10.7 จากการลดลงของผลผลิตสำคัญ เช่น ยางพารา และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ดี ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์และประมงยังคงขยายตัวได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 92.5 จากระดับ 95.0 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยสำคัญด้านอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.53 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.55 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.6 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.70 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 220.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ