xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชี้ตัวเลขส่งออก พ.ค.หดตัวในอัตราชะลอลง-จับตาเศรษฐกิจจีนชะลอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ -4.6%YOY โดยหดตัวน้อยลงจาก -7.6%YOY ในเดือนก่อนและน้อยกว่าคาดการณ์ของตลาด (ผลสำรวจจาก Reuters อยู่ที่ -8%) หากพิจารณามูลค่าส่งออกหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) การส่งออกหดตัวใกล้เคียงกันที่ -4.6%YOY เทียบกับ -9.3%YOY ในเดือน เม.ย. นอกจากนี้ หากเทียบเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล มูลค่าการส่งออกขยายตัว 3.0%MOM_sa

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) 
ระบุว่า ตัวเลขการส่งออกดังกล่าวสะท้อนทิศทางการส่งออกที่มีสัญญาณด้านบวกมากขึ้น พร้อมมองภาพการส่งออกของไทยในระยะต่อไปยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง โดยหากพิจารณา (1) ข้อมูลเร็วของการส่งออกรวม 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือน มิ.ย. กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ 5.3% ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำ หลังจากหดตัวแรง -16.1%YOY ในเดือนก่อนจากปัจจัยฐานสูง โดยหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล การส่งออกรวม 20 วันแรกของเกาหลีใต้เดือน มิ.ย. ยังขยายตัวได้ 1.5%MOM_sa และหากพิจารณาเฉพาะการส่งออกของเกาหลีไต้ไปตลาดจีนหดตัวน้อยลงติดต่อกัน 4 เดือนมาอยู่ที่ -11.2% (2) อุปทานคอขวดที่คลี่คลายใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด สะท้อนจากอุปสรรคการขนส่งและปัญหาขาดแคลนคอนเทนเนอร์ที่บรรเทาลง ระยะเวลาขนส่งที่ปรับเร็วขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด และค่าระวางเรือที่ลดลงใกล้เคียงค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตโควิดแล้ว โดยในระยะต่อไปคาดว่าการส่งออกของไทยจะฟื้นตัวในลักษณะ Uneven โดยสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ แม้การส่งออกสินค้าบางส่วนไปหลายตลาดจะมีทิศทางแผ่วลง

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม SCB EIC ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในปี 66 จาก 1.2% มาอยู่ที่ 0.5% จากกิจกรรมภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ชัดเจน รวมถึงความเสี่ยงสงครามภายในรัสเซียที่อาจปะทุขึ้นอีกและนำไปสู่การเร่งตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและเงินเฟ้อโลกได้ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (El Nino) ที่อาจส่งกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยจะขาดแคลนในระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุการส่งออกไทยในเดือนพฤษภาคม 2566 หดตัวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันที่ -4.6% (YoY) แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาขยายตัวได้ โดยเฉพาะการส่งออกไปยฝสหรัฐฯ และยูโรโซน ขณะที่การส่งออกไปยังจีนหดตัวลึกถึง -24.0%(YoY) ตามเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณสูญเสียโมเมนตัมในการฟื้นตัว

ขณะที่ภาพการชะลอตัวและความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกจะยังคงกดดันการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า ขณะที่อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอาจมีไม่มากเท่าที่ควร ประกอบกับปัจจัยอื่น เช่น สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ และความผันผวนของค่าเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจัยฐานที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกไทยอาจเห็นการกลับมาขยายตัวได้บ้าง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองว่า ภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 จะหดตัวที่ -1.2%

ศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย ระบุในระยะต่อไปยังคงต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่แผ่วลงอาจฉุดการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า โดยเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนล่าสุดส่งสัญญาณชะลอลง หลังจากเร่งตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะดัชนียอดค้าปลีกได้ชะลอตัวลงในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่เปราะบางและอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากจีนปรับตัวลงในระยะข้างหน้า ขณะที่การส่งออกไปประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ยังมีความเสี่ยงจากกิจกรรมภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น