xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้บาทผันผวนตามการเมือง พร้อมผ่อนเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการรองรับความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.ระบุค่าบาทแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง จากปัจจัยความไม่แน่อนอทางการเมือง เศรษฐกิจเงินเฟ้อโลก และนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และจีน พร้อมผ่อนเกณฑ์ธุรกรรมในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี โอนเงินออกนอกประเทศและทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น และสนับสนุน ใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ ขยายวงเงินเพื่อวัตถุประสงค์ให้เปล่าจาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มความคล่องตัวให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น เป็นไปตามนโยบายผลักดัน FX ecosystem ใหม่

นางอริศลา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยเฉพาะในประเทศ โดยตลาดการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศหลักเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาคการท่องเที่ยว และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยเป็นปัจจัยเสริมทำให้เงินบาทมีความผันผวนเพิ่มขึ้นในบางช่วงเวลา 


โดยค่าเงินบาทยังคงผันผวนต่อเนื่องจากปัจจัยภายนอกประเทศ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก 2.การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและจีน 3.ความไม่แน่นอนของการเมืองไทย ซึ่งยังมีความล่าช้าอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงภาวะในตลาดทุนที่ต่างชาติได้ขายหุ้นไปบ้าง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงนี้ ดังนั้น แนะนำให้ผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าส่งออกสินค้าควรที่จะป้องกันคามเสี่ยงจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนไว้


แม้ความผันผวนของค่าเงินบาทปรับลดลงแล้วจากช่วงต้นปี แต่ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและจีน ที่อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนขึ้นในระยะต่อไป


ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX ecosystem) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในการรับมือความผันผวนจากค่าเงินได้อย่างยั่งยืน โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนของผู้เล่นในตลาด ผ่านแผนงานต่างๆ ที่ดำเนินการแล้ว เช่น ผ่อนเกณฑ์ให้ทำธุรกรรมในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี โอนเงินออกนอกประเทศและทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น และในปี 2566 ธปท. มีแผนงานที่ทำเพิ่มเติม ดังนี้


1.สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคมีสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะประเทศจีนและญี่ปุ่น ขณะที่แนวโน้มทิศทางของเงินสกุลท้องถิ่นและเงินบาทมักเคลื่อนไหวในทางเดียวกัน ธปท. จึงสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) เช่น หยวน เยน มาเลเซียริงกิต และอินโดนีเซียรูเปีย ให้เป็นอีกทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง


โดยแผนงานในระยะถัดไปของ ธปท. ครอบคลุมถึงการร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาคผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติม การร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อหาแนวทางอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ

2.ผ่อนเกณฑ์โอนเงินออกนอกประเทศให้คล่องตัวขึ้น ได้แก่ (1) ขยายวงเงินเพื่อวัตถุประสงค์ให้เปล่าจาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ (2) อนุญาตให้บริษัทไทยโอนเงินไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศเพื่อช่วยบริหารจัดการสภาพคล่อง (Notional Pooling) และ (3) ขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อยไม่ผ่านตัวแทนจาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3.เพิ่มความคล่องตัวให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ (1) ขยายขอบเขตโครงการ Non-Resident Qualified Company (NRQC) ให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจชำระเงินระหว่างประเทศเข้าร่วมโครงการได้ โดยโครงการ NRQC มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทต่างชาติทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินไทยได้คล่องตัวขึ้น อีกทั้งปรับขั้นตอนการสมัคร NRQC ให้สะดวกขึ้น และ (2) ให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในหลักทรัพย์ไทยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินไทยได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องทำธุรกรรมผ่านตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศเท่านั้น

การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทั้งนี้ การผลักดัน FX ecosystem เป็นนโยบายระยะยาวที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกันป้องกันผลกระทบจากค่าเงินได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูงและคาดเดาได้ยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น