xs
xsm
sm
md
lg

กองทุน "อมตะ" เถื่อน / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์แล้วที่มีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างโจ๋งครึ่ม เชิญประชาชนให้ร่วมลงทุนระยะยาวผ่านกองทุนอมตะ โดยให้ผลตอบแทนสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 7% และน่าจะมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อ โอนเงินซื้อหน่วยลงทุนไปแล้ว

กองทุนอมตะที่โฆษณาชวนเชื่อผ่านเฟซบุ๊ก คงจ่ายเงินซื้อพื้นที่โฆษณา เช่นเดียวกับสินค้าและบริการอื่น ซึ่งหากต้องการเข้าถึงผู้ติดตามเฟซบุ๊กได้มากๆ จะต้องจ่ายเงินซื้อพื้นที่ในตำแหน่งดีๆ

กองทุนอมตะเถื่อน ออกแบบโฆษณาเหมือนจริง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นประชาชน โดยนำรูปของนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร ผู้ก่อตั้งบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ในแทบทุกอิริยาบถมาประกอบ จนดูเหมือนว่า นายวิกรม เป็นเจ้าของกองทุน

มีการโฆษณาเป็นกองทุนปันผลระยะยาว แต่กลับจ่ายผลตอบแทนทุกสัปดาห์ในอัตราไม่ต่ำกว่า 7% ต่อสัปดาห์ และสามารถลงทุนเริ่มต้นที่ 100 หน่วย ในราคาหน่วยละ 22 บาทเศษ หรือบางครั้งจะเปลี่ยนเป็นลงทุนขั้นต่ำ 1,000 หน่วย รวมทั้งลงทุนเริ่มต้นด้วยเงินเพียง 1,300 บาท

รูปแบบโฆษณาจะปรับเปลี่ยนแทบทุกวัน แต่จะมีนายวิกรม เป็นภาพประกอบเพื่อสร้างจุดขายและเรียกความเชื่อมั่น

ถ้าพิจารณาจากโฆษณาชวนเชื่อ การจ่ายผลตอบแทนสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 7% คงไม่ต้องพิสูจน์ทราบอะไรให้เสียเวลา เพราะเป็นกองทุนเถื่อน 100% เป็นกองทุนแชร์ลูกโซ่ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์รูปแบบหนึ่ง และคงหลอกต้มคนไปจำนวนหนึ่งแล้ว

สิ่งที่น่าแปลกใจคือ เฟซบุ๊กปล่อยให้มิจฉาชีพ ใช้พื้นที่โฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชนได้อย่างไร จะเห็นแก่เงิน หรือเพราะเฟซบุ๊กขึ้นชื่อว่าเป็นสื่อโซเชียลที่เข้มงวดมาก แม้แต่ข้อความที่มีเนื้อหารุนแรงยังห้ามเผยแพร่

แต่ทำไมปล่อยให้กองทุนเถื่อนซื้อพื้นที่ โฆษณาต้มประชาชนมาหลายสัปดาห์

ประเด็นที่น่าตั้งคำถามต่อไปคือ นายวิกรม ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่กลัวเสียชื่อเสียงหรืออย่างไร และทำไมจึงไม่แจ้งให้เฟซบุ๊กให้ตัดโฆณาชวนเชื่อกองทุนอมตะเถื่อนออกไป หรือแจ้งให้ตำรวจไซเบอร์ หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อล่าตัวมิจฉาชีพที่แอบอ้างนายวิกรมแก๊งนี้

และทำไม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงไม่ตัดไฟแต่ต้นลม เร่งดำเนินมาตรการหรือเร่งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับการเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อกองทุนอมตะเถื่อน เพื่อป้องกันประชาชนผู้ลงทุนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และแจ้งความดำเนินคดีกับมิจฉาฉีพแก๊งนี้

คำถามสุดท้าย ตำรวจไซเบอร์ไปทำอะไรอยู่ที่ไหน ทำไมไม่จัดการกับแก๊งตั้งกองทุนเถื่อน และปล่อยให้โฆษณาหลอกลวงอย่างท้าทายกฎหมายมาหลายสัปดาห์

แก๊งปล้นในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ยังวางแผนอย่างแยบยล แต่งบัญชีตบตามาหลายปี แต่แก๊งกองทุนอมตะเถื่อนประกาศจัดตั้งกองทุนเถื่อนดื้อๆ เพียงแต่ดึงนายวิกรม เป็นจุดขาย ใช้ผลตอบแทนสูงๆ เป็นตัวล่อ หลอกเหยื่อที่มีความโลภ โอนเงินให้ ก่อนจะหอบเงินหายเข้ากลีบเมฆ

ไม่น่าเชื่อว่าแก๊งมิจฉาชีพสามารถใช้เฟซบุ๊ก เป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมได้ และไม่น่าเชื่อว่ายังมีคนที่ตกเป็นเหยื่อ โอนเงินเข้าร่วมลงทุนด้วย ทั้งที่สาธารณชนคนทั่วไปน่าจะประเมินได้ว่า กองทุนอมตะที่โฆษณาชวนเชื่อผ่านเฟซบุ๊ก เป็นกองทุนเถื่อน ก่อตั้งโดยแก๊งมิจฉาชีพ

และถ้าร่วมลงทุน เงินต้นสูญแน่นอน

เงินลงทุนแต่ละคนอาจไม่มาก เสียหายอาจคนละไม่กี่พันบาท แต่ถ้ามีเหยื่อจำนวนมาก ร่วมลงทุนสัก 10,000 ราย มิจฉาชีพจะโกยเงินนับสิบล้านบาท

มิจฉาชีพที่ก่อตั้งกองทุนอมตะเถื่อนแก๊งนี้ สุดยอดจริงๆ โฆษณาหลอกลวงโจ๋งครึ่ม ไม่กลัวกฎหมาย ไม่เกรง ก.ล.ต.และตำรวจไซเบอร์ หรือแม้เจ้าของ “อมตะ” ตัวจริงอย่างนายวิกรม

แต่ละวันจะมีประชาชนตกเป็นเหยื่อของกองทุนอมตะเถื่อนเพิ่มมากขึ้น โดยยังไม่มีหน่วยงานใดปิดกั้นการโฆษณาชวนเชื่อหลอกต้มนักลงทุนได้

นักลงทุนที่เห็นกองทุนอมตะเถื่อนโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กต้องเตือนไว้ อย่าหลงตกเป็นเหยื่อ อย่าโอนเงินเข้าร่วมลงทุนเด็ดขาด

เพราะคนที่หลงกลโอนเงินเข้าไปแล้ว เงินต้นสูญไปในกองทุนอมตะเถื่อนแน่ๆ








กำลังโหลดความคิดเห็น