คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงเกณฑ์สำหรับ บจ. ใน SET และ mai ทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ปรับคุณสมบัติ บจ. เข้าใหม่ให้มีความแข็งแกร่งขึ้น พร้อมยกระดับการกำกับดูแลเพื่อเพิ่มคุณภาพ บจ. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นในไตรมาส 3 นี้
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติเห็นชอบแนวทางให้ปรับ positioning เพิ่มความแตกต่างของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อสนับสนุนบริษัทที่มีฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานแข็งแกร่งให้สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ พร้อมยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนให้เข้มข้นขึ้น โดยปรับปรุงเกณฑ์เครื่องหมาย "C (Caution)" เกณฑ์เพิกถอน ตลอดจนเกณฑ์ Backdoor Listing เพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียน และดูแลผู้ลงทุน โดยจะเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องภายในไตรมาส 3 ปีนี้
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันนี้ (21 มิ.ย.) มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ทั้งกระบวนการ ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) ในการเพิ่มโอกาสการระดมทุนสำหรับธุรกิจทุกขนาด และเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การรับบริษัทจดทะเบียนที่มีความเข้มแข็งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานมากขึ้น สอดรับกับที่ปัจจุบันมีตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) สำหรับธุรกิจ SMEs และ Startup ที่ต้องการเติบโต อีกทั้งสอดคล้องกับขนาดและฐานะการเงินของบริษัทในไทยในปัจจุบัน และแข่งขันได้กับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ รวมทั้งการยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียนและการดูแลผู้ลงทุน
สรุปแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์ ดังนี้
1.การ repositioning SET และ mai โดยปรับปรุงคุณสมบัติบริษัทจดทะเบียนตามเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใน SET และ mai ซึ่งจะเพิ่มกำไรเพื่อรองรับบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้น และเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่แข็งแรงขึ้น โดยกำหนดทุนชำระแล้ว (Paid-up capital) เริ่มต้นเท่ากัน เพื่อให้ส่วนของทุนมีความสอดคล้องกับลักษณะการประกอบธุรกิจ และบริษัทผู้ระดมทุนสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) และการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน (Public Offering) สำหรับบริษัทขนาดเล็กให้สูงขึ้น เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดรอง
2.การยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ได้แก่
2.1เพิ่มการเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย "C" กรณีบริษัทมีฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มลดลง เช่น มีรายได้จากการดำเนินงานต่ำหรือขาดทุนต่อเนื่อง ผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้ และผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินในทุกกรณี เนื่องจากบริษัทที่ปัญหาด้านฐานะการเงินมักตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เช่น ผู้ถือหุ้นหรือธุรกิจ หรือเป็นเป้าหมายของ Backdoor Listing รวมถึงอาจมีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดไปจากสภาพปกติ
2.2เพิ่มความเข้มงวดในการเพิกถอน โดยคณะกรรมการจะพิจารณาเพิกถอนบริษัทที่ไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนและย้ายกลับมาซื้อขายได้เมื่อครบกำหนดเวลา เพื่อให้มีบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพ อีกทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัท Backdoor Listing โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะร่วมพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทเช่นเดียวกับกรณี IPO เพื่อให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนไม่ว่าด้วยช่องทางใดมีคุณภาพใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ แนวทางการปรับปรุงเกณฑ์ข้างต้น เป็นการทำงานร่วมกันของตลาดหลักทรัพย์ฯ กับสำนักงาน ก.ล.ต. ในการยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและความมีเสถียรภาพของตลาดทุน หลังจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และจะทยอยประกาศใช้เกณฑ์ต่างๆ โดยคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป