"ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์" แต่งตั้งบริษัท ไพร้ซวอเตอร์ เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้ความเห็น (Due Diligence) เกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการบริษัทแห่งหนึ่งในธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้าน Chemical Logistics ในสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และครอบคลุมทั่วโลก ผู้บริหารมั่นใจต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ สร้างรายได้เพิ่ม คาดใช้ทุน 150 ล้านบาท หวังจะรับรู้รายได้ทันทีไตรมาส 3 ปีนี้
บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) ประกาศแต่งตั้งบริษัท ไพร้ซวอเตอร์ เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้ความเห็น (Due Diligence) เกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการบริษัทแห่งหนึ่งในธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้าน Chemical Logistics โดยมีการดำเนินธุรกิจในประเทศสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง และครอบคลุมทั่วโลก ฟากซีอีโอ "เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์" มั่นใจต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ สร้างรายได้เพิ่ม คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท หวังจะรับรู้รายได้ทันทีในไตรมาส 3/2566
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยว่า บริษัทฯได้แต่งตั้งบริษัท ไพร้ซวอเตอร์ เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) เพื่อให้ความเห็น (Due Diligence) เกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้าน Chemical Logistics ที่มีการดำเนินการทางธุรกิจในประเทศสิงคโปร์ จีน และฮ่องกง และมีการบริการครอบคลุมทั่วโลก และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ทันทีเมื่อกระบวนการเข้าซื้อกิจการดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/2566
"LEO มีความมั่นใจว่า PwC เป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความน่าเชื่อที่สุด โดยการมารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) บริษัทที่เป็น Target Company ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้าน Chemical Logistics ที่มีการดำเนินการทางธุรกิจในประเทศสิงคโปร์ จีน และฮ่องกง และบริษัทดังกล่าวมีรายได้ปีละประมาณ 500-600 ล้านบาท โดย LEO มีเป้าหมายที่จะเข้าซื้อกิจการในอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 35% และคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 150 ล้านบาท" นายเกตติวิทย์ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเน้นลงทุนธุรกิจใหม่ที่เป็น Non Freight มีกำไรขั้นต้นสูงถึง 40-45% โดยจะเริ่มรับรู้รายได้และกำไรจากโครงการ JV และ M&A ใหม่ๆ ที่เป็นทั้งการให้บริการ Freight Non Freight และ New Business ในหลายๆ โครงการ เช่น การให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนโดยรถบรรทุกและรถไฟผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน การให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิสำหรับขนส่งผลไม้ไปประเทศจีน การให้บริการลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) แห่งที่ 2 และการพัฒนาธุรกิจ Cold Chain Logistics ที่บริษัท สหไทย เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT ซึ่งได้เซ็นสัญญาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เรียบร้อยแล้ว การเปิดบริการ Self Storage ที่ถนนพระราม 4 การพัฒนาธุรกิจตัวแทนในการซื้อสินค้าจากประเทศไทยเพื่อส่งให้ผู้ซื้อในประเทศจีน ภายใต้ชื่อบริษัท LEO Sourcing & Supply Chain ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อสินค้าที่เป็นทุเรียนและผลไม้อื่นๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก