xs
xsm
sm
md
lg

TIA ให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action” หวังใช้เป็นกลไกดูแลนักลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สัมมนาสัญจร ให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action” พร้อมเดินหน้ายกร่างจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์” ครั้งแรกที่ขอนแก่น มี 7 กลุ่มผู้นำทางสังคมกว่า 100 คนเข้าร่วมฟัง หวังเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลและรับมือ "ภัยในตลาดเงิน และภัยในตลาดทุน” ชี้ 7 มูลฐานความผิดใช้ “Class Action” ได้

นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่า สมาคมเดินหน้าให้ความรู้ และผลักดันให้กฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action เข้ามาเป็นกลไกในการดูแล ช่วยเยียวยาผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย หากเกิดกรณีถูกฉ้อฉล ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการลงทุน โดยเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action” ขึ้นมา และเพื่อให้นักลงทุนและประชาชนเข้าถึงในวงกว้างเพิ่มขึ้น ทางสมาคมได้จัดสัมมนาสัญจรร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปีนี้มีแผนจัดสัญจร 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลา และทั้ง 3 จังหวัดมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เปิดสาขาเพื่อให้บริการกับนักลงทุน โดยขอนแก่น มีจำนวน 16 สาขา เชียงใหม่ จำนวน 26 สาขา และสงขลา จำนวน 20 สาขา มีมูลค่าซื้อขายติดท็อป 5 โดยเชียงใหม่มูลค่าซื้อขายอยู่ติดอันดับ 2 ขอนแก่น มีมูลค่าซื้อขายติดอันดับ 4 และ สงขลามีมูลค่าซื้อขายอันดับ 5

นายยิ่งยง กล่าวว่าได้จัดสัมมนาสัญจรครั้งแรกในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มผู้นำทางสังคม 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มทนายความ กลุ่มนักลงทุน กลุ่มโบรกเกอร์ กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย กลุ่มข้าราชการปกครอง และกลุ่มสื่อมวลชนกว่า 100 คนเข้าร่วมสัมมนา

“หากดูตัวเลขสถิติการทำผิดในตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และจากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2566 พบว่า มีการดำเนินการปรับทางแพ่ง รวมทั้งสิ้น 11 ราย 4 คดี มีมูลค่าปรับทางแพ่งรวมกว่า 84 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่มากกว่าปี 2565 ทั้งปี ที่มีการปรับทางแพ่ง ทั้งสิ้น 42 ราย จำนวน 8 คดี มีมูลค่าปรับ 74.03 ล้านบาท ส่วนกรณีของ STARK ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ การที่ตลาดทุนไทยมีกฎหมาย Class Action น่าจะเข้ามาดูแลนักลงทุนได้” นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาว่า มูลฐานความผิดที่จะเข้าข่ายและใช้ Class Action ได้ จะมีประมาณ 7 มูลฐานประกอบด้วย 1.ผิดสัญญา 2.การเปิดเผยข้อมูล 3.การเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต 4.การทุจริตของกรรมการและผู้บริหาร 5.การสร้างราคา 6.การใช้ข้อมูลภายใน และ 7.การครอบงำกิจการ

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานในการเปิดงานสัมมนาสัญจร กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และ ธปท.จัดสัญจรให้ความรู้ประชาชนเรื่องภัยการเงินและการลงทุน ขอนแก่นเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรกว่า 1.8 ล้านคน จาก 26 อำเภอ เป็นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งภัยทางการเงิน และการลุงทนอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลากับทุกคน และจากตัวเลขการทำผิดทางคดีออนไลน์ ที่ได้ขอมาจากตำรวจภูธรจังหวัด พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ถึงวันที่ 12 พ.ค.2566 มีคดีทั้งหมด 5,500 คดี มียอดเงินที่ถูกหลอกไป 147 ล้าน แต่อายัดได้แค่ล้านกว่าบาท และคดีฉ้อโกงออนไลน์ของขอนแก่นสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ดังนั้นการให้ความรู้ การมีมาตรการและเครื่องมือเข้ามาช่วยจะสามารถดูแลประชาชนได้

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น กล่าวเสริมว่า “เทคโนโลยีใหม่ทั้งการซื้อขายและการชำระเงินแบบ Digital ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกสบาย แต่มาพร้อมกับความเสี่ยงใหม่ๆ จึงถือเป็นพันธกิจร่วมกันของภาครัฐและเอกชนที่จะให้ความรู้กับประชาชนเพื่อรู้ทันและลดอันตรายจากภัยดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการและเดินสายให้ความรู้กับประชาชนต่อเนื่อง ได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะหากดูสถิติตัวเลขต่างๆ ได้ลดลงจากช่วงก่อนหน้ามาก และ ธปท.พร้อมสนับสนุนการสัญจร เพื่อให้ประชาชนและนักลงทุนได้รับข้อมูล มีความเข้าใจ พร้อมรับมือกับภัยที่จะเกิดขึ้นจทั้งจากตลาดเงินและตลาดทุน

น.ส.พรนิภา สินโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเพิ่มเติมถึงภัยตลาดเงิน ว่า พัฒนาการการชำระเงินทางออนไลน์ขยายตัวถึง 30-50% ในปีนี้ และจากข้อมูลที่แบงก์ชาติเก็บในเรื่องของการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทาง Internet Banking หรือ Mobile Banking และทางพร้อมเพย์ที่มีบัญชี 140 ล้านบัญชี การเติบโตของการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ มาพร้อมกับภัยทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติกการแจ้งความออนไลน์พบว่า 5 อันดับที่มีการแจ้งความเข้ามา อันดับ 1 คือการหลอกให้ซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีจำนวน 89,791 คดี มีมูลค่าความเสียหาย 1,307 ล้านบาท อันดับ 2 คือ การหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน 34,071 คดี มูลค่า 4,108 ล้านบาท อันดับ 3 หลอกให้กู้เงิน จำนวน 31,202 คดี มูลค่าเสียหาย 1,293 ล้านบาท อันดับ 4 หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 21,626 คดี แต่มูลค่าเสียหาย 10,420 ล้านบาท และอับดับ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call center) จำนวน 19,271 คดี มูลค่าเสียหาย 4,180 ล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้ประชาชนและนักลงทุนรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนไม่โอน ไม่กดลิงก์เข้าไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย

“จากความร่วมมือกันของทุกหน่วยงาน การตั้งศูนย์รับเรื่องออนไลน์ การมีตำรวจไซเบอร์ ส่งผลให้สถิติการรับแจ้งออนไลน์ที่เคยสูงมากถึง 27,000 คดี ในเดือน ธ.ค.2565 ลดลงมาเหลือ 20,000 คดี ในเดือน มี.ค. และมีแนวโน้มลดลง แต่ยังถือว่าเยอะอยู่” น.ส.พรนิภา กล่าว

ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจและนิติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า Class Action สามารถนำมาใช้กับความผิดในตลาดทุนได้หลายรูปแบบ ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ การผิดสัญญาชำระหนี้ในตราสารหนี้ต่างๆ เช่น หุ้นกู้ หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาแล้วก็ก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้ลงทุนสามารถรวมกันฟ้องได้ การทำผิดเกี่ยวกับเปิดเผยข้อมูลต่างๆ หากเมื่อถึงเวลาข้อมูลที่เคยเปิดเผยไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น เปิดเผยข้อมูลจะมีโปรเจกต์ที่จะดำเนินการในอนาคต ที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโต มีผลให้ราคาหุ้นสูงขึ้น แต่ไม่ได้ดำเนินโครงการ เมื่อผลปรากฏต่อสาธารณะชัดเจนว่าไม่ได้ลงทุนในโครงการดังกล่าว นักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาวิ่งขึ้นสามารถที่จะรวมกลุ่มฟ้องได้ เป็นต้น

ดร.ภูมิศิริ กล่าวว่า Class Action มีผลบังคับใช้มานานแล้ว แต่ที่ยังไม่มีผลเชิงปฏิบัติ เพราะทนายความยังไม่ค่อยให้ความสนใจ ยังไม่ทราบว่ามีเรื่องของคดีกลุ่ม ซึ่งน่าจะมาจาก Class Action ยังเป็นเรื่องใหม่ อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของค่าตอบแทนอาจไม่ค่อยคุ้มค่า ถึงแม้ว่ากฎหมายจะมีการกำหนดไว้ว่า 30% แต่ ในทางปฏิบัติได้ไม่ถึง 30% เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางทีมวิจัยยังพบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแล้วรวบรวมข้อมูลต่างๆ หรือว่าช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีต่างๆ การจะเป็น Class Action ได้ส่วนใหญ่จะต้องมีผู้เสียหายเยอะมากๆ แต่ในทางกลับกันการทำงานกับผู้เสียหายจำนวนมากๆ ที่อยู่กระจัดกระจายกันทั่วประเทศเป็นเรื่องยาก และยังมีปัญหาจำนวนสมาชิกกลุ่มที่ได้รับความเสียหาย อาจหายไปในระหว่างการดำเนินคดี รวมถึงการกลั่นกรอง คัดแยก ยืนยันตัวตนสมาชิกกลุ่มต้องชัดเจน ซึ่งถ้าสมาชิกกลุ่มไม่มีความถูกต้องชัดเจน อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์คนที่ไม่ได้เสียหายจริงๆ เข้าไปบนอยู่ หรือคนที่อาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียหรืออยากจะทำให้คดีไปไปในทิศทางที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มใหญ่ แต่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเล็กๆ แทน เป็นต้น

ดร.ภูมิศิริ กล่าวว่า จากการศึกษา Class Action ในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแคนาดา พบว่าโมเดลที่เหมาะกับประเทศไทย คือ แคนาดา ซึ่งเป็นโมเดลที่มีการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ขึ้นมาอยู่ภายใต้ในเครือข่ายของรัฐ สามารถพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐ ประสานงานในลักษณะที่เป็นส่วนกลางได้ ทำให้เกิดการช่วยเหลือคดีได้จริงๆ และศูนย์ฯ สามารถเผยแพร่ความรู้ข้อมูลต่างๆ อำนวยความสะดวกต่างๆ มี Network กับองค์กร ทั้งภาครัฐหรือเอกชนเพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุนรายย่อยได้และยังสามารถช่วยตั้งต้นนำเข้าสู่การดำเนินคดีดีแบบกลุ่มหรือ Class Action ได้

นอกจากนี้ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยยังร่วมกับสภาทนายความแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการจัดหลักสูตรให้ทนายความ ผู้ที่มีความสนใจในสายวิชาชีพนี้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น